เด็กด้อยโอกาสในหลายหมู่บ้านของประเทศบอตสวานา อาทิ ทีชีโน, โมโคมบา, เลโฟโก และเซฟเรลาลา กำลังจะได้รับ “เชดซา โซลาร์ แบ็กแพ็ก” (Chedza Solar Backpacks) หรือ “กระเป๋าเป้พลังงานแสงอาทิตย์” ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถอ่านหนังสือได้ในเวลากลางคืน
กระเป๋าเป้ใบนี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ เคด ลีฟี วัย 31 ปี ผลิตจากผ้าใบที่มีคุณสมบัติกันน้ำและติดตั้ง “แผงโซลาร์เซลล์” ที่ดูดซับแสงแดดตอนกลางวัน ซึ่งสามารถจ่ายพลังงานให้หลายอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์และแท็บเล็ต สำหรับไฟฉายแอลอีดี (LED) ที่ติดอยู่บนกระเป๋ามีระยะการใช้งานสูงสุด 7 ชั่วโมง และสามารถเพิ่มการชาร์จอุปกรณ์พกพาถึงร้อยละ 40
มีการคาดการณ์ว่า กระเป๋าเป้พลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยปรับปรุงผลการเรียนของนักเรียนในชนบทที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ พร้อมลดทอนค่าใช้จ่ายจากเทียนไขและพาราฟินแก่ผู้ปกครองที่แทบไม่มีกำลังซื้อ
ประเทศบอตสวานาอุดมด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลิฟีจึงตัดสินใจดึงจุดแข็งตรงนี้มาสร้างกระเป๋าเป้ในปี 2021 เขาทำงานร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ที่ช่วยเสาะหานักเรียนที่มีความต้องการมากที่สุด เพื่อบริจาคกระเป๋าจำนวน 80 ใบให้เด็กกลุ่มนี้
นอกจากเปิดโอกาสให้นักเรียนชนบทได้อ่านตำราตอนกลางคืนแล้ว ลีฟีเชื่อว่านวัตกรรมข้างต้นยังช่วยลดทอนต้นทุนการนำเข้าไฟฟ้าของบอตสวานาและมลภาวะ โดย “เชดซา” เป็นคำภาษากาลังกาที่แปลว่า “แสง” ในภาษาอังกฤษ หน้าที่ของเขาคือการทำให้แอฟริกาและอนาคตของเด็ก ๆ สว่างไสวด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ดึงดูดความสนใจจากหลายบริษัท กลุ่มคนตั้งแคมป์ และบุคคลทั่วไปแล้ว
ลีฟีกล่าวว่า เขานำเข้าชิ้นส่วนองค์ประกอบทางไฟฟ้าส่วนใหญ่จากจีน ทว่าบริษัทของเขายังคงต้องการเงินทุนและการสนับสนุนเพื่อต่อยอดผลลัพธ์ด้านพลังงาน โดยอุปสรรคในการผลิตขนานใหญ่คือความจริงที่ว่าเขาจำเป็นต้องมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพ และรับประกันว่าราคาสินค้าจะไม่สูงเกินไป
นอกจากนั้น ลีฟีเผยว่าไฟฟ้าของบอตสวานาส่วนใหญ่มาจากถ่านหิน พลังงานหมุนเวียนคืออนาคตแห่งพลังงานสำหรับประเทศและแอฟริกาโดยรวม เนื่องจากมีราคาถูกและบอตสวานามีแสงอาทิตย์มากเหลือล้น
ทั้งนี้ ปี 2021 มอคกวีซี มาซีซี ประธานาธิบดีบอตสวานา แถลงว่าบรรดาเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ คือกุญแจสำคัญในภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนระดับชาติ ขณะนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบอตสวานา ซึ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภาในเดือนเมษายน 2021 ยังตอกย้ำความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
ที่มา : ซินหัว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส