ร็อกเก็ตแล็บ (Rocket Lab) ผู้ผลิตระบบการบินอวกาศและให้บริการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กเชิงพาณิชย์เผยกำลังพัฒนาจรวด Electron ระบบขนส่งอวกาศไปตามแนววงโคจรแบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งจะมีแผนการกู้คืนส่วนของบูสเตอร์กลางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์หลังจากปล่อยจรวดครั้งที่ 26 ในปลายเดือนนี้

2 เม.ย. ร็อกเก็ตแล็บได้ทำภารกิจครั้งที่ 25 ปล่อย 2 ดาวเทียม BlackSky ไปสู่วงโครจรโดยไม่มีการกู้คืนบูสเตอร์ ซึ่งต่อไปภารกิจครั้งที่ 26 ในชื่อ “There And Back Again” จะปล่อยดาวเทียม 34 ดวงพร้อมด้วยการกู้คืนบูสเตอร์กลางอากาศขณะที่ตกลงมาสู่พื้นโลกโดยใช้ร่มชูชีพและเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 19 เม.ย. นี้ แทนการกู้คืนบนพื้นน้ำที่ทำครบตามแผนแล้ว 3 ครั้ง

พ.ย. 2020 ร็อกเก็ตแล็บสามารถกู้คืนบูสเตอร์เป็นครั้งแรก โดยกางร่มชูชีพให้ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ต่อมาเดือน พ.ค. 2021 สามารถกู้คืนบูสเตอร์ครั้งที่ 2 โดยกางร่มชูชีพให้ตกลงมาบนเรือ และ พ.ย. 2021 สามารถกู้คืนนำบูสเตอร์เป็นครั้งที่ 3 โดยกางร่มชูชีพให้ตกลงในมหาสมุทร พร้อมกับเริ่มใช้เฮลิคอปเตอร์ติดตามการตกลงมาของบูสเตอร์ด้วย

ปี 2020 ร็อกเก็ตแล็บได้เคยทดสอบการจับบูสเตอร์จำลองกลางอากาศที่ถูกปล่อยลงมาพร้อมร่มชูชีพจากเฮลิคอปเตอร์ที่ความสูงเหนือมหาสมุทร 8,000 ฟุต (244 ม.) จากนั้นก็ใช้เฮลิคอปเตอร์อีกลำบินเข้าไปคว้าร่มชูชีพที่ความสูงต่ำลงมา 3,000 ฟุต (914 ม.) แล้วกู้คืนบูสเตอร์กลับมาได้สำเร็จ เพื่อต้องการจะหันมากู้คืนบูสเตอร์กลางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์แทนการกู้จากพื้นน้ำในมหาสมุทรด้วยเรือ

https://twitter.com/RocketLab/status/1247947593935552512

ร็อกเก็ตแล็บจะกู้คืนบูสเตอร์กลางอากาศโดยให้เฮลิคอปเตอร์เตรียมพร้อมห่างจากชายฝั่ง 150 ไมล์ (241 กม.) ก่อนปล่อยจรวด 1 ชม. จากนั้น 2 นาทีครึ่งหลังจากปล่อยจรวด จรวดท่อนที่ 2 จะแยกออกไปแล้วขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ส่วนบูสเตอร์จะตกลงมาสู่พื้นโลกโดยจะกางร่มชูชีพขนาดเล็กสำหรับชะลอความเร็วที่ระดับความสูง 13 กม. และกางร่มชูชีพหลักที่มีขนาดใหญ่ที่ระดับความสูง 6 กม. จากนั้นเฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-92 จะบินเข้าไปใช้ตะขอเกี่ยวเข้ากับสายร่มชูชีพของบูสเตอร์

ที่มา : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส