ในอนาคตที่ไม่ไกลไปจากนี้สักเท่าไหร่ โลกของเรากำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมาก สัญญาณที่ชัดเจนล่าสุดเราได้เห็นสภาพอากาศหนาวเย็นลงในช่วงเดือนเมษายนแบบกระทันหัน ฝนตกช่วงฤดูหนาว ฤดูหนาวที่อากาศร้อน พายุฝนและหิมะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและคาดเดาได้ยาก อากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ของโลก ดูเหมือนว่าภาวะโลกร้อนกำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้อย่างที่ไม่มีใครรู้เลยว่าโลกใบนี้จะสามารถประคับประคองชีวิตหลายพันล้านชีวิตไปได้อีกนานแค่ไหน

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง SpaceX บริษัทเอกชนทางด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มีโอกาสสูญพันธุ์ในอนาคต ตราบใดที่เรายังไม่สามารถไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ ซึ่งวิสัยทัศน์ของเขาตั้งแต่เริ่มทำบริษัทคือการไปก่อตั้งอาณานิคมของมนุษย์บนดาวเคราะห์สีแดงเพื่อนบ้านอย่างดาวอังคารให้สำเร็จ และทำให้การเดินทางด้วยจรวดอวกาศระหว่างโลกกับดาวอังคารเป็นเรื่องปกติเหมือนที่เราเดินทางด้วยเครื่องบินอย่างทุกวันนี้ มัสก์เคยตั้งข้อสงสัยว่า “[ผม]สงสัยว่ามีอารยธรรม ‘ดาวเคราะห์ดวงเดียว’ ที่ตายแล้วกี่แห่งในจักรวาล? สายพันธุ์ที่ไม่เคยไปถึงดาวดวงอื่นและใช้ทรัพยากรจนตัวเองดับสูญไปในที่สุดหรือถูกทำลายโดยปัจจัยภายนอก น่าจะมีอยู่บ้างแหละ” และเขาให้ความเห็นต่อว่า “เราไม่อยากเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์เดียว แต่เราอยากเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์หลายดวง”

จักรวาลเป็นสิ่งที่กว้างใหญ่ มีความเป็นไปได้มากมาย แต่มันก็มีเรื่องที่เราไม่รู้อีกเต็มไปหมดเช่นเดียวกัน โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ถือเป็นเพียง “เศษผงบนเศษผงบนเศษผง” ของจักรวาลแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกันชีวิตหลายพันชีวิต ทั้งสัตว์ต่าง ๆ ทั้งมนุษย์ เรื่องราวมากมาย ประวัติศาสตร์ ศาสนา สงคราม สังคม ความยากดีมีจน ฯลฯ ก็ดำเนินอยู่บนเศษผงแห่งนี้

เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าปาฏิหารย์ก็คงไม่ผิดนัก

มัสก์เห็นความเป็นไปได้สองอย่างที่จะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติในอนาคต

  1. เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้จนกว่าเหตุการณ์วันโลกาวินาศที่เกิดจากภายในหรือภายนอกจะลบล้างเราทั้งหมดออก ทุกอย่างหายไปจนหมดสิ้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นพันล้านปีต่อจากนี้ อาจจะเป็นพรุ่งนี้ก็ได้ไม่มีใครทราบ
  2. เรากลายเป็นสปีชีส์หลายดาวเคราะห์ (multi-planetary species) เพื่อให้มีโอกาสสูญพันธุ์น้อยลง ยิ่งกว่านั้น หากโลกโดนอุกกาบาตหรือถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ อารยธรรมบนดาวอังคารก็สามารถช่วยทำให้มันฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ได้

มีการคาดการณ์กันมากมายถึงโอกาสที่โลกจะโดนอุกกาบาตครั้งใหญ่แบบที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์อีกครั้งว่าเป็นไปได้มากแค่ไหน ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นตรงกันว่าโอกาสแบบที่เคยเกิดขึ้นเหมือนอย่างครั้งนั้นค่อนข้างต่ำ แต่ถึงยังไงก็ตาม องค์การนาซา (NASA) ก็เคยออกมายอมรับอย่างเปิดเผยว่าการตรวจจับดาวเคราะห์น้อยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อันที่จริงในปี 2019 ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่าสนามฟุตบอลที่เรียกว่า ‘2019 OK’ ถูกพบเพียงหนึ่งวันก่อนเคลื่อนตัวผ่านระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งมันก็ทำให้นักวิจัยตกใจและไม่ทันตั้งตัวเลยทีเดียว ข้อมูลจากเว็บไซต์ Buzzfeed News บอกว่านักวิทยาศาสตร์ของนาซาคนหนึ่งเขียนในอีเมลภายในองค์กรว่า “เจ้านี้มันย่องมาแบบไม่ทันให้เรารู้ตัวเลย”

มัสก์เชื่อว่าการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารเป็นอนาคตของอารยธรรมมนุษย์ ในวันที่ 29 กันยายน 2019 มัสก์ได้เปิดตัวยานอวกาศ Starship ของ SpaceX ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องบินที่ขนส่งมนุษย์และสินค้าไปยังที่ใดก็ได้ในระบบสุริยะ โดยเฉพาะไปยังดาวอังคารและยังร่อนกลับลงสู่พื้นโลกได้ด้วย

ตอนที่มัสก์ให้สัมภาษณ์ในรายการพอดแคสต์ ‘Artificial Intelligence’ ของ เล็กซ์ ฟริดแมน (Lex Fridman) นักวิจัยจาก MIT เกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปยังดาวดวงอื่น ในปี 2019 เขาได้อ่านส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘The Pale Blue Dot’ ซึ่งเขียนโดย คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งของหนังสือเขียนเอาไว้ว่า

“โลกใบนี้เป็นโลกเพียงแห่งเดียวที่เรารู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ อย่างน้อย ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่เผ่าพันธุ์ของเราจะอพยพไปได้”

ซึ่งอ่านถึงตรงนี้มัสก์พูดต่อเลยว่า “นั่นไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นเรื่องที่ผิด ก็ดาวอังคารยังไงล่ะ!”

Elon Musk and Mars

แต่การเปลี่ยนดาวอังคารให้มนุษย์สามารถอพยพไปใช้ชีวิตอยู่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนการย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด การปรับดาวอังคารทั้งดวงเป็นงานขนาดใหญ่เลยทีเดียว และสิ่งแรกที่เราต้องทำเลยก็คือการทำให้สนามแม่เหล็กของดาวอังคารให้กลับมาทำงานใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากรายงานของเว็บไซต์ Science.org เชื่อว่าการชนของอุกกาบาตเป็นสิ่งที่ทำให้สนามแม่เหล็กของดาวอังคารนั้นหายไป พลังงานที่ปล่อยออกมาจากการชนกันครั้งใหญ่ทำให้การไหลของความร้อนในแกนเหล็กของดาวเคราะห์ซึ่งสนามแม่เหล็กก็ค่อย ๆ หายไป โดยก่อนหน้านั้น มีการคาดการณ์ว่าดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศเท่ากับโลกที่มีน้ำของเหลวอยู่ทุกหนทุกแห่ง และการหายไปของเกราะของสนามแม่เหล็กนี้ ดวงอาทิตย์จะขจัดชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ออกไปเรื่อย ๆ พร้อมกับคร่าสิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคุณไม่สามารถอพยพไปอยู่ที่พื้นผิวดาวอังคารโดยไม่นำสนามแม่เหล็กกลับมาให้ได้ก่อน

มัสก์เองก็พยายามเสนอไอเดียว่าเราควรทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้นเพื่อให้สนามแม่เหล็กของมันกลับมาทำงานอีกครั้งโดยการยิงขีปนาวุธไปยังดาวอังคาร เป็นการใช้ระเบิดนิวเคลียร์แบบฟิวชันลูกเล็กหลายลูกไประเบิดที่เหนือชั้นบรรยากาศของดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง เหมือนการสร้างดวงอาทิตย์ปลอมไว้เพื่อสร้างความร้อน (เพื่อป้องกันดาวอังคารต้องเปื้อนกัมมันตภาพรังสีด้วย) การระเบิดจะช่วยทำให้ดาวอังคารอุ่นขึ้น เพราะตอนนี้ดาวอังคารมีอุณภูมิติดลบกว่า 60-170 องศาเซลเซียส ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เขาจึงหวังว่าการระเบิดจะทำลายน้ำแข็งขั้วโลกของดาวเคราะห์ เพิ่มระดับของไอน้ำและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงพอจนทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก เพื่อเพิ่มอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ

แต่แน่นอนว่าไอเดียนี้ก็ถูกโจมตีอย่างหนักเหมือนกันโดยความเห็นที่มีน้ำหนักก็คือการทิ้งระเบิดแบบนี้จะเกิดฝุ่นควันจำนวนมากในชั้นบรรยากาศ กลายเป็นปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงผิวโลก อากาศจะหนาวเย็นลงไปอีก ซึ่งก็จะเป็นเหตุการณ์คล้ายกับตอนที่ไดโนเสาร์สูญพันธ์ไปเมื่อ 64 ล้านปีก่อนนั่นเอง

ถึงตอนนี้เราอาจจะกลับมาถามตัวเองว่า “แล้วทำไมฉันต้องสนใจด้วย เขาจะไปดาวอังคารก็ให้เขาไปสิ สิ้นเดือนนี้จะมีอะไรกินรึเปล่ายังไม่รู้เลย ทำไมไม่แบ่งเงินมาช่วยคนยากจนทั่วโลกบ้าง?”

มันไม่แปลกหรอกครับที่จะถามแบบนี้ เพราะโลกของเราเองก็มีปัญหาที่ยังต้องแก้อีกมากมายไม่รู้จบ การเดินทางไปดาวอังคารหรือเป็นสปีชีส์หลายดาวเคราะห์มันเป็นอะไรที่ดูไกลตัวมาก ๆ จนฟังแล้วอาจจะรู้สึกกวนใจเลยด้วยซ้ำว่าทำไมต้องสนใจเรื่องที่เหมือนหนังไซไฟกันด้วย

แต่วันหนึ่งเรื่องนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจ วันหนึ่งที่โลกนี้ไม่สามารถรองรับสิ่งมีชีวิตเหมือนอย่างทุกวันนี้อีกต่อไป เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือ สงครามนิวเคลียร์ อาจจะปะทุขึ้นมาแล้วโลกบอบช้ำจนเกินเยียวยา เมื่อนั้น ‘แผนสอง’ ของมัสก์ที่พยายามจะย้ายมนุษย์ไปดาวอังคารดูจะไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระอีกต่อไป

อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส