เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือที่เรารู้จักกันว่า ‘Vending Machine’ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงแล้วจากหนังสือ ‘Vending Machines : A Social History’ ของ เคอร์รี เซเกรฟ (Kerry Segrave) บอกว่าประวัติศาสตร์ของมันสามารถไล่ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตศักราชในอียิปต์ช่วงที่ถูกปกครองโดยโรมัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือเวลาชาวบ้านเข้ามาทำพิธีกรรมในโบสถ์แต่ละคนก็จะตักน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์กันเยอะเกินไปและใช้เวลานาน เฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย (Heron of Alexandria) นักคณิตศาสตร์ วิศวกรชาวกรีก และอาจารย์สอนที่หอสมุดแห่งอะเล็กซานเดรียเลยคิดค้นอุปกรณ์ตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยอุปกรณ์ตัวนี้จะปล่อยน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์มาจำนวนหนึ่งเมื่อหยอดเหรียญเข้าไป โดยเหรียญนี้จะไปตกลงบนถาดที่เชื่อมกับคันโยกสำหรับปิด-เปิดท่อให้น้ำไหล ถาดที่เหรียญตกลงไปจะเอียงจนกว่าเหรียญจะหล่นแล้วคันโยกก็จะดันลงมาปิดท่อ มันเป็นความก้าวหน้าทางวิศวกรครั้งใหญ่ แต่สำหรับคนทั่วไปอุปกรณ์นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเวทมนตร์อันน่ามหัศจรรย์
ข้ามมาถึงตอนนี้ 2,000 ปีต่อมา เราได้เห็นการพัฒนาของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่เรียกว่าไปไกลกว่าเครื่องจำหน่ายน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์อัตโนมัติในโบสถ์อย่างเทียบไม่ติด แบรนด์และธุรกิจมากมายที่ใช้เครื่องอัตโนมัติเหล่านี้เพื่อสร้างรายได้และขายสินค้าให้กับบริษัท มีตั้งแต่ของทั่วไปอย่างเครื่องดื่ม น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงสิ่งของเครื่องใช้อย่างหนังสือ เสื้อยืด กางเกงใน สายชาร์จ บุหรี่ ถุงยางอนามัย กระทั่งตู้ขายทองคำแท่ง ปูเป็น ๆ กาแฟสด และราเมงที่ทำแบบสด ๆ ถ้วยต่อถ้วยก็มี แต่กว่าเจ้าเครื่องนี้จะมาถึงตรงนี้ได้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
ช่วงปี 1615 ในประเทศอังกฤษ มีบันทึกเกี่ยวกับเครื่องจำหน่ายบุหรี่อัตโนมัติโดยดัดแปลงกลไกของเครื่องจำหน่ายน้ำมันต์ศักดิ์สิทธิ์อัตโนมัติในอียิปต์มาใช้ ต่อมาในปี 1822 ก็เห็นการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นเมื่อนักขายหนังสือชื่อ ‘ริชาร์ด คาร์ลี’ (Richard Carlie) ได้ประดิษฐ์เครื่องขายหนังสือพิมพ์อัตโนมัติขึ้นมา โดยมีเป้าหมายว่าจะขายหนังสือที่ถูกแบนโดยรัฐบาลสมัยนั้นอย่าง ‘The Age of Reason’ (ยุคสมัยของเหตุผล) ของ โทมัส เพน (Thomas Paine) ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงความเสื่อมโทรมของศาสนาคริสต์ โดยกล่าวถึงพระคัมภีร์ว่าเป็นเพียงวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง หนังสือเล่มนี้สร้างแรงกระเพิ่มและตอบรับดีมากในอเมริกา แต่ในอังกฤษถูกต่อต้านและห้ามขาย เขาจึงสร้างเครื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงการขายแบบตรง ๆ
ต่อจากนั้นก็มีเครื่องจำหน่ายแสตมป์อัตโนมัติเกิดขึ้นในปี 1867 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในยุคปัจจุบันเลยก็คงไม่ผิดนัก เพราะหลังจากนั้นก็เริ่มมีเครื่องจำหน่ายโปสการ์ด ซองจดหมาย และกระดาษโน้ต ตามสถานีรถไฟและไปรษณีย์ในลอนดอนเมื่อปี 1883 ไม่นานหลังจากนั้นบริษัท Sweetmeat Automatic Delivery Co. ที่ดูแลจัดการตู้อัตโนมัติเหล่านี้ก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1887 และปีถัดมา Adams Gum Company ได้เปิดตัวตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเครื่องแรกในสหรัฐอเมริกา ติดตั้งบนชานชาลารถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก โดยมีสินค้าเป็นหมากฝรั่ง Tutti-Fruiti ตอนนี้มันเริ่มกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ครึ่งศตวรรษต่อมาตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเติบโตเป็นอย่างมาก ขายทุกอย่างตั้งแต่หมากฝรั่ง ขนม แสตมป์ ไปจนถึงเครื่องดื่มร้อนเย็น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาในตอนนั้นคือคนเริ่มมองว่าเจ้าเครื่องจักรพวกนี้ก็คือเครื่องจักร พยายามจะหาทางโกงเอาสินค้าฟรี ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็กลายมาเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตอีกเช่นกัน
เซเกรฟเล่าว่า “ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเลยที่คนส่วนใหญ่จะมองเจ้าพนักงานขายที่ไม่มีปากเสียงนี้เป็นเพียงเกมเพื่อเอาชนะ” ตอนนั้นเครื่องเหล่านี้ไม่สามารถแยกออกได้ว่าสิ่งที่หย่อนลงไปเป็นเหรียญจริง ๆ หรือเป็นอย่างอื่นที่รูปทรงและน้ำหนักคล้ายกับเหรียญ คนที่อยากลองก็เลยเอาทั้งไม้ ทั้งเศษเหล็ก หรือแม้แต่น้ำแข็ง เพื่อหลอกให้เจ้าตู้นี้ขายสินค้าออกมาให้ฟรี ๆ ความเสียหายเกิดขึ้น ตู้เสียเพราะสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไปติด จนภายหลังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Coin-Detecting ออกมาเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่หยอดมาเป็นเหรียญจริง ๆ
กระทั่งมาถึงตอนนี้ที่เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติได้พัฒนามาจนสามารถรับได้ทั้งเหรียญ ธนบัตร หรือจ่ายแบบ ออนไลน์ สินค้าที่มากมายนับไม่ถ้วนมีให้เลือกหมด มันกลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่า 30,000 ล้านเหรียญไปแล้ว มันไม่ใช่แค่ร้านขายของเล็ก ๆ มีเพียงไม่กี่ไอเทมอีกต่อไป ในจีนเราเห็นตู้กดปูเป็น ๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการไปตลาดอาหารทะเล ในอาบูดาบีมีเครื่องกดทองแท่งเหมือนร้านขายทอง ในอเมริกามีเครื่องกดงานศิลปะที่บรรจุมาในกล่องเล็ก ๆ
นอกจากขายสินค้าแล้ว ตอนนี้เราเห็นความก้าวหน้าของตู้กดอัตโนมัติที่สามารถทำอาหารให้กินกันแบบสด ๆ ตรงนั้นเลยด้วย ญี่ปุ่นก็มีเครื่องกดราเมงทำกันสด ๆ หรืออย่างบ้านเราที่ฮิตอยู่ตอนนี้ก็ตู้กดกาแฟที่ทำได้ร้อยกว่าเมนูมากกว่าร้านขายกาแฟหลาย ๆ ร้านด้วยซ้ำ ในจีนมีตู้ขายเฟรนช์ฟรายส์อัตโนมัติ ทอดสดในตู้เลย หรือถ้าอยากกินพิซซ่าก็ไม่ต้องรอให้พนักงานมาส่งแล้ว ตู้กดอัตโนมัติที่อิตาลีสามารถปั้นแป้งแล้วทาซอส ใส่ชีส เลือกท็อปปิ้ง แล้วอบร้อนพร้อมทานภายในเวลาแค่ 90 วินาที อาจจะไม่ได้อร่อยเหมือนไปกินที่ร้าน แต่ถ้าหิว ๆ การรอ 90 วินาทีแทนที่จะเป็นครึ่งชั่วโมง รสชาติอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรนักในเวลานั้น
การได้ตอนนั้นเดี๋ยวนั้น ความพึงพอใจของการได้ในสิ่งที่ต้องการทันที (Instant Gratification) อาจจะเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติก็ได้ มีการทดลองหนึ่งที่มหาวิทยาลัย Rush University Medical Center เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพวกเขาจะตั้งเครื่องให้ปล่อยสินค้าจำพวกอาหารขยะอย่างมันฝรั่งทอดกรอบช้าลงกว่าเดิม 25 วินาที ส่วนถ้าเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพเช่น น้ำเปล่าหรือขนมที่ถูกจัดว่าดีต่อสุขภาพ (ซึ่งตรงนี้จะมีเกณฑ์วัดอยู่ 7 ข้อ ไขมัน แคลอรี โซเดียม ต่าง ๆ) ผลที่ได้คือคนจะยอมเปลี่ยนมากินขนมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น 5% เพียงเพราะไม่อยากรอเพิ่มขึ้นอีก 25 วินาที มันแสดงให้เห็นว่าทำไมเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติถึงได้รับความนิยม หยอดปุ๊บ ได้ปั๊บ มีความสุขทันที มันคือความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในตัวเราทุกคน
ทุกวันนี้เหลือเพียงไม่กี่อย่างที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ โดยเมื่อปี 2019 มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าทั่วโลกมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติประมาณ 15 ล้านเครื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์ของมันตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับความสะดวกและหลากหลายของตู้เหล่านี้ แนวความคิดของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติก็ดูเหมือนจะฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์ไปแล้ว
อ้างอิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
อ้างอิง 10
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส