หลังจากที่ได้มีการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope – JWST) ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้มีการกางในหลายขั้นตอนอย่างมาก ในที่สุด กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ก็ได้กางและเรียงกระจกเสร็จสิ้น พร้อมใช้งานและเริ่มเก็บภาพถ่ายของดวงดาวต่าง ๆ ในจักรวาลแล้ว

โดยการกางและเรียงกระจกของกล้องโทรทรรศน์เสร็จสมบูรณ์นั้นจะทำให้แสงสะท้อนจากกระจกอย่างสมบูรณ์ เพื่อสร้างภาพที่คมชัดในเครื่องมือทั้งหมดของตัวกล้อง จากนั้นก็จะเหลือเพียงแค่เครื่องมือ ที่เมื่อผ่านการตั้งค่า ปรับเทียบ (Calibrate) เรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถส่งข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและตามความคาดหมายได้ ซึ่งขั้นตอนการปรับเทียบนี้จะใช้เวลาอีกเป็นเดือนเลยทีเดียว

แต่เมื่อเสร็จแล้ว กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ก็พร้อมที่จะทำให้เราตื่นตาตื่นใจ ไปกับทิวทัศน์ที่น่าดึงดูดใจไม่แพ้ภาพที่ส่งมาโดยกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลในช่วงจากเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน และได้ถ่ายภาพถ่ายตัวอย่างออกมาเป็นภาพชุดนี้

ตัวอย่างภาพถ่ายเพื่อทดสอบความคมชัดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (ภาพโดย NASA/STScl)

ภาพที่ได้มานั้น จะอยู่มุมเดียวกันเมื่อเทียบกับ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE (Wide-field Infrared Survey Explorer) W2 เก็บภาพท้องฟ้าที่ 4.6 μm เมื่อปี 2010, กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer ที่เป็นกล้องแบบ Infrared Array Camera (IRAC) เก็บภาพท้องฟ้าที่ 8.6 μm เมื่อปี 2004 ที่ผ่านมา โดยนายแอนดราส แกสปาร์ (Andras Gaspar) ได้นำภาพไปเทียบกับภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ล่าสุดนี้ ที่ 7.7 μm ซึ่งภาพที่ได้นั้นมีความคมชัดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลย !

ภาพเปรียบเทียบความคมชัดระหว่างกล้องโทรทรรศน์อวกาศแต่ละรุ่น (ภาพโดย Andras Gaspar)

ภาพเปรียบเทียบนี้ นายแอนดราส ได้ทำแอนิเมชันเพื่อเปรียบเทียบความคมชัดที่เพิ่มขึ้นจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ WISE W2 และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ด้วย

ทั้งหมดนี้จะทำให้เราเห็นได้เลยว่าวิทยาการด้านการทำกล้องโทรทรรศน์แบบอินฟาเรดนั้นได้มีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

อ้างอิง 1 / อ้างอิง 2 / อ้างอิง 3 / อ้างอิง 4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส