เวลาเราต้องเดินทางไกลไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือทำงาน ไม่ว่าจะโดยสารพาหนะอะไร รถ เรือ หรือแม้แต่เครื่องบิน สิ่งหนึ่งที่เราต่างรู้สึกเหมือน ๆ กันก็คือ เวลาเดินทางกลับมักจะรู้สึกว่าเร็วกว่าเวลาเดินทางไป ความรู้สึกนี้เป็นเหมือนกันทั่วโลกครับ ทุกชาติพันธุ์ ไม่ว่าภาษาใด อย่าว่าแต่เดินทางด้วยพาหนะต่าง ๆ บนโลกนี้เลย แม้แต่ อลัน บีน (Alan Bean) นักบินอวกาศที่เดินทางไปดวงจันทร์ด้วยยานอะพอลโล 12 เมื่อกลับมายังโลกมนุษย์แล้ว เขายังให้สัมภาษณ์เลยว่า
“ขากลับจากดวงจันทร์ผมรู้สึกเหมือนว่าระยะทางสั้นกว่า”
ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกเหมือน ๆ กันว่า ขากลับจะเร็วกว่าขาไปแต่ในใจเราก็รู้กันดีว่ามันเป็นเพียงความรู้สึก เพราะอย่างไรก็ตามระยะทางมันก็เท่าเดิมอยู่ดี แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันคนเรา แต่บรรดานักจิตวิทยาก็ไม่ปล่อยให้เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ผ่านไป หลายคนก็ยังหยิบเรื่องนี้มาวิเคราะห์ทดสอบว่าทำไมมนุษย์เราจึงรู้สึกเช่นนี้ แล้วตั้งชื่อความรู้สึกเช่นนี้ว่า “return trip effect” หลังทำการทดสอบ ศึกษาหาข้อมูลแล้ว ก็มีคำอธิบายมาดังนี้ครับ
นีลส์ แวน เดอ เว็น (Niels van de Ven) นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัย ทิลเบิร์ก ในเนเธอร์แลนด์ ได้ให้อธิบายสั้น ๆ ตามหลักจิตวิทยาไว้ว่า เหตุที่เรารู้สึกว่าการเดินทางขากลับนั้นเร็วกว่าก็เพราะความรู้สึกคุ้นเคย คนเราจะจำทิวทัศน์สองข้างทางได้
“และนั่นแหละที่มันทำให้เรารู้สึกว่าเราเดินทางได้เร็วขึ้น”
แต่ขณะเดียวกัน เดอเว็นก็สร้างเหตุผลโต้แย้งในคำอธิบายตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็ฟังดูน่าคิด
“แต่เมื่อใดที่ผมเดินทางด้วยเครื่องบิน ผมก็ยังรู้สึกแบบนี้อยู่ ทั้ง ๆ ที่ผมไม่ได้เห็นทิวทัศน์ที่คุ้นเคยตลอดสองข้างทางแล้วก็ตาม”
เพื่อพิสูจน์สมมติฐานของตัวเอง เดอเว็นเลยขอทำการทดลอง ด้วยการใช้อาสาสมัครสองกลุ่มให้มาขี่มอเตอร์ไซค์ไปยังจุดหมายเดียวกัน กลุ่มแรกให้ขี่ไปและขี่กลับในเส้นทางเดิม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้ใช้เส้นทางกลับอีกทางหนึ่งซึ่งระยะทางเท่ากัน ถ้าสมมุติฐานของเดอเว็นที่ว่า คนเรารู้สึกว่าขากลับเร็วกว่าเพราะคุ้นเคยกับเส้นทางแล้ว กลุ่มที่ไปและกลับในเส้นทางเดียวกัน กลุ่มนี้จะต้องรู้สึกว่าขากลับเร็วกว่าขาไป
แต่เมื่อได้สอบถามความรู้สึกของทั้งสองกลุ่มแล้ว กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับเส้นทางหรือความคุ้นเคยต่อทิวทัศน์สองข้างทางแต่อย่างใด เพราะทั้งสองกลุ่มตอบเหมือนกันว่า “ขากลับเร็วกว่า”
เมื่อผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบนี้ เดอเว็นจึงทำการวิเคราะห์ศึกษาต่อไปและให้ข้อสรุปออกมาว่า อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เราต่างรู้สึกว่าขากลับนั้นเร็วกว่าขาไป นั่นก็เพราะ
“คนเรามักมีความคิดเชิงบวกหรือความรู้สึกดี ๆ เมื่อได้เริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยว”
เมื่อเราดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง ความรู้สึกว่าการเดินทางมานี่มันช่างใช้เวลานานเสียจริง แล้วเราก็จะจดจำไว้จนกระทั่งถึงเวลาต้องเดินทางกลับ
“พอเราเริ่มเดินทางกลับ เราก็คิดในใจไปก่อนแล้วว่า ว้าว นี่มันจะต้องใช้เวลาเดินทางกันนานกันอีกแล้วล่ะ”
พอเราคิดไปก่อนแล้วว่าจะต้องเดินทางไกลใช้เวลายาวนาน แต่พอได้เดินทางกลับถึงบ้านจริง ๆ เราจึงรู้สึกว่ามันผ่านไปเร็วกว่าที่คาดเสมอ
“ทั้งหมดทั้งหลายมันมาจากความคาดหวังไปเองของเราล้วน ๆ”
ไมเคิล รอย (Michael Roy) นักจิตวิทยาจากวิทยาลัยเอลิซาเบ็ธทาวน์ ผู้ร่วมศึกษาและเขียนบทความเรื่อง “return trip effect” ในวารสาร The journal Psychonomic Bulletin
รอยยังเสริมอีกว่าคำอธิบายข้างต้นนั้นยังไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เรารู้สึกว่าขากลับนั้นเร็วกว่า
“เราจะไม่บอกว่านี่คือสาเหตุเดียว แต่เรามั่นใจว่านี่คือสาเหตุอย่างหนึ่งเป็นแน่”
นักจิตวิทยาท่านอื่น ๆ ก็เคยวิเคราะห์สาเหตุที่ อลัน บีน กล่าวว่าเขารู้สึกว่าขาเดินทางกลับโลกนั้นผ่านไปเร็วกว่า นั่นก็เพราะว่าขากลับโลกนั้นเขาไม่ต้องแบกรับความกดดันใด ๆ เพราะว่าขาไปนั้นเขามีภารกิจต้องเดินทางไปถึงดวงจันทร์ตามกำหนด
“เมื่อขาไปนั้นคุณจะต้องไปให้ถึงจุดหมายตามกำหนด แต่พอขากลับเวลามันไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญแล้วไง แต่กลับกันขาไปนั้นคุณมีความตั้งใจมุ่งมั่นไปยังจุดหมายปลายทาง”
นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ถ้าเรามีเวลาใส่ใจกับอะไรรอบข้างก็จะทำให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้น
ก็พอจะอธิบายได้ว่าความรู้สึก “return trip effect” มันเหมือนกับมายาลวง การไปพยายามทำความเข้าใจ หาเหตุผลอธิบายถึงสิ่งนี้มาก ๆ เข้า ความรู้สึกนี้อาจจะหายไปก็ได้ ซึ่งเดอเว็นเองก็ไม่คิดว่าเป็นไอเดียที่ดีนัก
“ความรู้สึก return trip effect มันเป็นความรู้สึกดี ๆ นะ เป็นความรู้สึกเชิงบวกเมื่อเราจะได้กลับบ้าน ผมไม่แน่ใจหรอกว่า พวกคุณอยากให้รู้สึกแบบนี้หายไปจริงเหรอ”
เอาล่ะสิ ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าคราวหน้าต้องเดินทางไกล แล้วขากลับไม่รู้สึกว่าได้กลับบ้านเร็วขึ้น จะมาโทษผู้เขียนไหมเนี่ย