เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2022 Apple ได้ประกาศยกเลิกการผลิตสินค้าที่เป็นตำนานกว่า 20 ปีของบริษัทอย่าง iPod ลงในที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะเป็นข่าวที่ทุกคนน่าจะทราบดีว่าไม่ช้าก็เร็วก็คงมาถึง แต่มันก็ยังอดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงช่วงเวลาที่สวยงามในวันเก่า ภาพโปสเตอร์โฆษณาสีสดที่เป็นเงารูปคนเต้นในมือถือ iPod พร้อมสายสีขาวที่ระโยงระยางเสียบหูยังคงติดอยู่ในใจเสมอสำหรับแฟน ๆ แต่หลังจากที่ iPhone ถูกนำออกมาสู่ตลาด iPod ก็กลายเป็นเหมือนของเล่นที่ถูกลืมอยู่ภายใต้เงาของนวัตกรรมเปลี่ยนโลกไปอย่างช่วยไม่ได้
แต่อย่าลืมว่า “iPhone จะไม่วันนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มี iPod” มันเป็นก้าวสำคัญของ Apple ที่นำพวกเขากลับเข้าสู่การแข่งขันในธุรกิจอีกครั้ง เป็นเสียงดนตรีปลุกใจ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) และเหล่าวิศวกรของพวกเขาให้ฮึกเหิมและสร้างฐานรากที่สำคัญของบริษัทจนเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของบริษัทที่ตอนนี้เกือบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว
แฟน ๆ ของ Apple หรือคนที่คลุกคลีในวงการเทคโนโลยีน่าจะพอทราบถึงเรื่องราวการฟื้นกลับมาของบริษัทที่ถูกเล่าต่อกันเหมือนเป็นนิทานก่อนนอนไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นขอสรุปสั้น ๆ จะได้ไม่ยืดเยื้อว่าช่วงปี 90’s สำหรับ Apple นั้นไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่ เกือบจะล้มละลายแล้วด้วยซ้ำ พอเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของทศวรรษก็ดูดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย iMac G3 มีคนสนใจและขายได้ค่อนข้างดี รายได้ก็ค่อย ๆ ฟื้นกลับมา แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม Apple ยังคงเป็นเพียงผู้เล่นตัวเล็ก ๆ ในตลาดที่มีพี่ใหญ่อย่าง Microsoft, HP, Compaq และ IBM ครองอยู่ แม้ G3 จะขายดีแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะพลิกให้พวกเขาเป็นตัวเลือกในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย
เดือนตุลาคมปี 2001 จอบส์ได้เปิดตัว iPod สู่สายตาชาวโลก เป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่เรียกว่ามาเป็นสะพานเชื่อมให้กับทุกคนเข้ากับเสียงเพลงแบบดิจิทัลที่สามารถจุเพลงได้มากถึง 1,000 เพลงและมีความจุในเครื่องประมาณ 5GB ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมากในเวลานั้น ตอนนั้นเรามีแผ่น MP3 มีเครื่องเล่น CD MP3 แล้ว แต่มันก็เทอะทะพอสมควรเลย แต่ iPod นั้นขนาดเล็ก ไม่ต่างจากสมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่ทุกวันนี้ พกพาง่ายและมี Scroll Wheel ไว้สำหรับสั่งการทำงานของตัว iPod ที่ไม่เหมือนใครด้วย เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ด้วยสาย FireWire เพียงไม่กี่คลิกก็โหลดเพลงมาไว้บนเครื่องเพื่อเอาติดตัวไปที่ไหนก็ได้ ตามสโลแกน “A Thousand Songs in Your Pocket” (1,000 บทเพลงในกระเป๋าของคุณ)
นี่เป็นก้าวสำคัญของ Apple จากตลาดนิชเล็ก ๆ ของตัวเองมาสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่อย่างเต็มตัว สินค้าที่ผ่านมานั้นกระจุกตัวอยู่กับคนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ โดยเฉพาะนักออกแบบหรือคนที่ทำงานสายกราฟิก แต่ iPod เข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง ทุกคนรักการฟังเพลง และยอดขายของ iPod ก็เป็นเครื่องยืนยันความคิดนี้ของจอบส์ได้เป็นอย่างดี ภายในเวลาไม่กี่ปียอดขายของ iPod ก็พุ่งทะยานอย่างฉุดไม่อยู่ มีการรองรับการเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการ Windows ด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista บอกว่าในปี 2002 iPod ถูกขายไป 4 แสนเครื่อง และ 4 ปีต่อมา 2006 เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40 ล้านเครื่องเลยทีเดียว เทียบกันตามจำนวนที่ขายแล้ว Mac สู้ iPod ไม่ได้เลย กลายเป็นสินค้าที่ทำให้คนหันมาสนใจ Apple มากขึ้น พร้อมจะหยิบติดตัวไปไหนมาไหนด้วย ฉายภาพของ Apple ให้กลายเป็นแบรนด์เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
แน่นอนว่ายอดขายยังคงเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนในปี 2007 อยู่ที่ราว ๆ 51 ล้านเครื่อง และก็เป็นปีเดียวกันที่ Apple ได้ประกาศนวัตกรรมชิ้นต่อไปนั่นก็คือ iPhone รุ่นแรกที่มาเปลี่ยนอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนไปตลอดกาล ตอนนั้น iPod ยังคงเป็นรุ่นพี่ที่มีอิทธิพลค่อนข้างเยอะ สังเกตได้จากตอนที่จอบส์แนะนำ iPhone ว่ามันเป็น “Wide-Screen iPod with Touch Controls” หรือ iPod หน้าจอใหญ่ที่ควบคุมได้จากการใช้นิ้วสัมผัสนั่นเอง เขาพยายามเปรียบเทียบแบบนี้ให้มันชัดเจน เพราะคนยังคุ้นเคยกับ iPod อยู่และ iPhone ก็ถูกสร้างขึ้นมาบนเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาจาก iPod ด้วยเช่นกัน
พูดอีกอย่างคือถ้าไม่มี iPod ก็ไม่มี iPhone เหมือนอย่างทุกวันนี้
iPhone ช่วงแรก ๆ ต้องเชื่อมข้อมูลกับ iTunes เพื่อจะ Activate และจัดการหลาย ๆ อย่าง ซึ่งที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าคนที่ใช้ iPod อยู่แล้วจะเข้าใจเลยทันทีว่าต้องทำยังไงต่อ เพลงต่าง ๆ ก็อยู่ใน iTunes อยู่แล้วเพราะฉะนั้นเลยไม่ต้องย้ายไปย้ายมา เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยเรายังเห็นไอคอน ‘iPod’ อยู่บน iPhone ด้วยในช่วงแรก หลังจากนั้นเราก็เริ่มเห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ เติมเข้ามาอย่าง App Store ที่เปิดตัวด้วยแอปกว่า 500 แอปในตอนนั้น แต่เทคโนโลยีนี้ก็มาจากประสบการณ์การเปิดร้านขายเพลงออนไลน์ของ iTunes Music Store ในปี 2003 และขายภาพยนตร์ในปี 2006 แน่นอนด้วยตัวมันเอง iPhone ถือว่าเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก แต่ถ้าบอกว่ามันจะเกิดขึ้นเป็น iPhone เลยทันทีโดยไม่มี iPod ปูทางมาให้คงเป็นไปไม่ได้
ยอดขายของ iPod ลดลงเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัดหลังจากปี 2009 เมื่อ iPhone กลายเป็นสินค้าที่ทุกคนต้องการ พอมาในปี 2010 ก็มี iPad เข้ามาร่วมวงด้วยยิ่งทำให้ความต้องการ iPod ในตลาดน้อยลงไปกว่าเดิม เราเห็นการมาของ iPod Touch ที่เป็นเหมือน iPhone แค่ไม่มีฟีเจอร์โทรศัพท์ แต่มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์สักเท่าไหร่สำหรับคนที่มี iPhone อยู่แล้วก็ไปใช้อุปกรณ์ที่หน้าจอใหญ่กว่าอย่าง iPad ดีกว่า
ความสำคัญของมันก็น้อยลงไปเรื่อย ๆ ในอีก 10 ปีต่อมา iPod Classic หยุดการขายไปในปี 2014 จนกระทั่งปี 2015 ที่เริ่มมีการรายงานยอดขายของ iPod ไปรวมกับสินค้าอื่น ๆ อย่าง Apple TV, Apple Watch และ Beats ต่อมาก็ถึงคราวของ iPod Nano และ Shuffle ในปี 2017 และแน่นอนล่าสุด iPod Touch เป็นคนสุดท้ายที่ต้องออกจากสายการผลิตในปี 2022
คงเดาได้ไม่ยากว่า iPod Touch Gen 7 (ล่าสุด) ขายไม่ดีสักเท่าไหร่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่าสำหรับแฟนของ iPod ก็คงมีคนคิดถึงมันอย่างแน่นอน (อย่างผู้เขียนเองก็มี iPod Touch Gen 6 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ที่มักจะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อคิดถึงวันเก่า ๆ) และกลายเป็นว่ามีกระแสที่คนไปตามหา iPod Touch Gen 7 ตามสาขาต่าง ๆ เพราะอยากซื้อเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำดี ๆ
ถึงแม้ว่าตอนนี้ iPod จะกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่สิ่งที่มันสร้างเอาไว้นั้นยังอยู่กับเราต่อไป เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ Apple มีในวันนี้ว่ามีพื้นฐานมาจาก iPod ที่แข็งแกร่ง ธุรกิจของ Streaming เพลงก็มาจากตรงนั้น หูฟัง AirPod ก็เริ่มจากตรงนั้น (ที่มีคนล้อว่ามันคือหูฟัง Apple ที่ตัดสายออก) iPod ถูกพัฒนาจนสามารถดูไฟล์วีดีโอได้ ต่อมากลายเป็น Apple TV Plus แล้วยังจำได้ไหมว่าเคยใช้ iPod Nano ที่หน้าจอสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นนาฬิกาบนข้อมือ ต่อมามันก็กลายเป็น Apple Watch
แน่นอนว่า iPhone ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ทำให้ Apple ประสบความสำเร็จจนถึงจุดนี้ สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมหาศาล แต่เราต้องจำเอาไว้ว่าความสำเร็จของผลิตภัณฑ์หนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน (แม้จะดูเป็นแบบนั้นก็ตาม) มันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบ ๆ ปี มีการตัดสินใจมากมายระหว่างทางและแน่นอน iPhone ก็ไม่ต่างกัน มันเกิดขึ้นได้เพราะแรงขับที่ iPod สร้างขึ้นมาก่อนหน้านั้นจนผู้ใช้งานเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ รู้จักและคุ้นชินกับการใช้งาน และกลายเป็น iPhone ในที่สุด
ที่มา: The Verge, Lowend Mac, CNBC
Vimeo, The Verge 2, The Verge 3
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส