ยานอวกาศ CST-100 Starliner ของโบอิ้ง (Boeing) ได้ปลดล็อกออกจากท่าของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อวันพุธ เวลา 2:36 PM ET (01:36 น. วันพฤหัสบดีในประเทศไทย) จากนั้นเวลา 6:05 PM ET (05:05 น. ในประเทศไทย) ได้เปิดเครื่องขับดันเพื่อออกจากวงโคจรเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกแล้วกางร่มชูชีพลงจอดที่เทือกเขา White Sands Missile Range ของฐานทัพสหรัฐฯ ในนิวเม็กซิโกได้อย่างปลอดภัยในเวลา 6:49 PM ET (05:49 น. ในประเทศไทย) ซึ่งนับว่าเป็นแคปซูลอวกาศลำแรกของสหรัฐฯ ที่ได้ลงจอดบนบกไม่ใช่ในมหาสมุทร
19 พฤษภาคม โบอิ้งได้ทำภารกิจ Orbital Flight Test-2 (OFT-2) ทดสอบการบินยานอวกาศ CST-100 Starliner ที่ไร้ลูกเรือไปตามแนววงโคจรมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติครั้งที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำภารกิจล้มเหลวถึง 2 ครั้ง และเช้าวันที่ 20 ก็สามารถเข้าจอดเทียบท่าของ ISS ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ทั้งนี้การทำภารกิจเป็นเวลา 6 วันได้มีการทดสอบความสามารถของยานในการรองรับนักบินอวกาศในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปล่อยยานไปจนถึงการลงจอด
เที่ยวบินไร้ลูกเรือที่ไม่มีนักบินอวกาศควบคุมยานของ Starliner ได้บรรทุกอุปกรณ์ขึ้นไปยัง ISS หนักกว่า 800 ปอนด์ (362.87 กก.) รวมทั้งตุ๊กตาจากเคอร์บัลสเปซโปรแกรม ส่วนขากลับก็ได้บรรทุกอุปกรณ์ลงมาด้วยที่หนักกว่า 600 ปอนด์ (272.15 กก.) นั่นก็คือถังระบบเติมไนโตรเจนออกซิเจนในแบบนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งใช้สำหรับสร้างอากาศให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่บน ISS โดยจะนำลงมาเติมบนโลกและเอากลับขึ้นไปที่ ISS ใหม่ในภายหลัง
ภารกิจ Orbital Flight Test-2 (OFT-2) ของยานอวกาศ CST-100 Starliner ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ ครั้งต่อไปเราก็จะได้เห็นยาน Starliner ขนส่งนักบินอวกาศของนาซาแบบตัวเป็น ๆ เดินทางไปกลับสถานีอวกาศนานาชาติที่ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาเท่านั้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส