หลังจากก้าวสำคัญอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติอย่างการปล่อยตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope – JWST) และเริ่มต้นใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนที่ผ่านมา
วันที่ 8 มิถุนายน มีรายงานจากนาซาว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ นั้นได้รับแรงกระแทกจากอุกกาบาตขนาดเล็กหลายครั้ง แต่อุปกรณ์ก็ยังทำงานได้ดีเกินมาตรฐานอยู่
ทีมพัฒนารู้ดีว่าในบริเวณที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ทำงานอยู่นั้น หรือเรียกว่าบริเวณ L2 (Lagrangian Point 2) ซึ่งห่างออกไปกว่า 1.5 ล้านกิโลเมตร เต็มไปด้วยอนุภาคขนาดฝุ่นละอองที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสุดขีด และการโดนกระแทกจากอนุภาคเหล่านั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระจกสะท้อนแสงของเว็บบ์จึงได้ถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี และได้มีการทดสอบหลายครั้งในระหว่างที่สร้าง เพื่อให้มั่นใจว่ากล้อง เจมส์ เว็บบ์ จะทำงานได้นอกอวกาศ แต่การกระแทกครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเกินกว่าที่จะสามารถทดสอบไว้ก่อนได้บนภาคพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม การทำงานของกล้องเจมส์เว็บบ์ยังคงทำงานได้ดีเกินความคาดหมาย และมีประสิทธิภาพสูงกว่าความต้องการขั้นต่ำในการสำเร็จภารกิจที่ถูกส่งออกไปได้อยู่
พอล กีธเนอร์ (Paul Geithner) ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการด้านเทคนิคของนาซากล่าวว่า ทางทีมงานรู้ดีว่ากล้องเจมส์ เว็บบ์ จะต้องเจอกับสภาพแวดล้อมสุดโหดนอกอวกาศ อย่างเช่น รังสีอัลตราไวโอเลตความเข้มข้นสูง, ฝุ่นละอองที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสุดขีด, อนุภาคจากดวงอาทิตย์ และรังสีคอสมิคจากกาแล็กซีอันไกลโพ้น พวกเขาจึงพัฒนากล้องให้พร้อมต่อการต้านทานสภาพแวดล้อมเหล่านั้น และเก็บรักษามันอย่างดีเกินมาตรฐานในระหว่างที่อยู่บนโลก
นอกจากนี้ กล้องยังสามารถตรวจจับและปรับตำแหน่งกระจกในส่วนที่ได้รับแรงกระแทก เพื่อแก้ไขและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลลัพธ์ของรูปภาพได้บางส่วน ทำให้วิศวกรสามารถทำให้ความบิดเบือนของข้อมูลเบาบางลง และทำให้ผลลัพธ์ออกมาตามปกติได้หลังจากแรงกระแทก ซึ่งการแก้ไขนี้ก็สำเร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากการกระแทกครั้งล่าสุด
สำหรับกรณีฝนดาวตก ทีมควบคุมการบินได้มีมาตรการป้องกันที่จะช่วยหันกล้องออกจากฝนดาวตกที่ทราบตำแหน่งก่อนที่มันจะส่งผลกระทบได้ ถึงแม้ว่าการกระแทกครั้งล่าสุดไม่ได้เกิดจากฝนดาวตกและเป็นภัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ได้มีการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อมาจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อที่จะลดผลกระทบในอนาคตหากมีการเกิดแรงกระแทกในระดับนี้ขึ้นอีก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ความรู้แก่มนุษย์สำหรับเรื่องฝุ่นละอองในบริเวณ L2 และช่วยให้การทำภารกิจครั้งนี้และครั้งต่อไปแม่นยำยิ่งขึ้นอีกด้วย
นาซายืนยันว่าแรงกระแทกครั้งล่าสุดไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อประสิทธิภาพการทำงานของกล้องเจมส์ เว็บบ์ และจะยังคงทำงานตามกำหนดการณ์ปกติต่อไป นอกจากนี้ ทีมงานกำลังเริ่มเตรียมการที่จะปล่อยภาพถ่ายชุดแรกจากกล้องอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะมีความคมชัดมากกว่าภาพถ่ายอวกาศที่เคยเห็นกันมาหลายเท่า ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ที่มา: NASA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส