ก่อนที่จะเข้าประเด็นอยากชี้แจงให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ (Electric Vehicle) โดยรวมแล้วเป็นสิ่งที่ดีต่อสภาพแวดล้อม ช่วยชะลอภาวะโลกร้อน ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่สร้างก๊าซที่เป็นมลพิษต่อโลก เป็นเทคโนโลยีที่สร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมและอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่กว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันที่มาวิ่งบนท้องถนนนั้นยังมีปัจจัยหลายอย่างที่สร้างมลพิษเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้า กระบวนการขั้นตอนการทำแบตเตอรี่ ช่วงเวลาที่ชาร์จแบตเตอรี่ และกระทั่งสภาพอากาศในพื้นที่ที่เราใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย

ลองมาดูกันว่าแต่ละอันมีผลมากน้อยขนาดไหน

  1. แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้า

เราทราบดีว่ารถยนต์ไฟฟ้าใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จึงไม่ต้องการเชื้อเพลิงเผาไหม้เหมือนรถยนต์ที่เราคุ้นเคย สิ่งเดียวที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่เหล่านี้ก็คือไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการเติมน้ำมันเหมือนอย่างรถยนต์ทั่วไป แต่พลังงานไฟฟ้าที่ส่งมายังบ้านหรือสถานีชาร์จก็สามารถมาจากแหล่งที่สร้างมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศได้ไม่น้อย โดยเฉพาะโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในไฟฟ้าในประเทศไทยมาจากก๊าซธรรมชาติราว ๆ 60% และถ่านหินอีก 15% ที่เหลือเป็นไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน พลังงานหมุนเวียนลมและแสงอาทิตย์ บางส่วนรับมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและมาเลเซีย เพราะฉะนั้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังใช้ไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่สร้างมลภาวะสู่อากาศจึงเป็นเหมือนการแก้ไขปัญหาเพียงครึ่งเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่ในบ้านเราเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ ในหลาย ๆ ประเทศอย่างอเมริกาก็ตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน พลังงานสะอาดนั้นยังถือเป็นส่วนน้อยอยู่ และถ้ารถยนต์ไฟฟ้าจะสร้างผลกระทบในระยะยาวต่อโลกจริง ๆ ต้องมีการวางแผนให้แหล่งผลิตพลังงานนั้นต้องสะอาดด้วย

ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยโลก ในระยะยาวตลอดอายุขัยของมันก็ถือว่าปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงทั่วไปอยู่แล้ว ในประเทศอย่างนอร์เวย์หรือฝรั่งเศสที่พลังงานไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนเกือบทั้งหมด ปัญหาเรื่องแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่สร้างมลภาวะก็จะหมดไป แต่ยังมีอีกปัญหาตามมานั่นก็คือกระบวนการสร้างแบตเตอรี่

  1. กระบวนการสร้างแบตเตอรี่

กระบวนการสร้างแบตเตอรี่และสายการผลิตรถยนต์คือส่วนที่สร้างมลภาวะเยอะที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ประมาณครึ่งหนึ่งของมลภาวะที่เกิดขึ้นจากแบตเตอรี่มาจากพลังงานไฟฟ้าที่ถูกใช้ในการผลิต แถมยังมีเรื่องกระบวนการขุดแร่โลหะหนักอย่าง Lithium และ Cobalt จากเหมืองและนำไปสร้างเป็นแบตเตอรี่ที่สร้างมลภาวะสูง (ยังไม่พูดถึงว่าแร่เหล่าเป็นทรัพยากรที่มีวันหมดเพราะฉะนั้นวันหนึ่งก็จะขุดไม่ได้อีก) เมื่อทำเหมืองต้องมีการขุดทำลายพื้นที่ป่า สร้างความเสียหายให้กับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แถมยังมีเรื่องการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายอีกด้วย

ยังไงก็ตามถ้าเรานับตลอดอายุการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ก็ถือว่าสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปอยู่ดี กระบวนการสร้างแบตเตอรี่ถือว่าสร้างมลภาวะเยอะที่สุดแล้ว แต่หลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีอีกเลย แต่สำหรับรถยนต์ทั่วไปจะมีการปล่อยมลภาวะในระดับเท่า ๆ กันตลอดการใช้งาน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วรถยนต์ไฟฟ้าก็ยังถือว่าดีกว่า

อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ต้องมีการเร่งพัฒนาในอนาคตคือเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่เก่าให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งช่วงหลังมาเราได้เห็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าออกมาช่วยกันโปรโมทเรื่องนี้เยอะพอสมควร ยกตัวอย่าง Tesla ที่สามารถรีไซเคิลได้ถึง 92% จากแบตเตอรี่เก่า หรืออย่าง VW ก็พัฒนาจนสามารถรีไซเคิลได้กว่า 97% ยิ่งมีการพัฒนาเรื่องนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งลดความจำเป็นการขุดแร่โลหะหนักที่สร้างมลภาวะน้อยลงไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้รถไฟฟ้านั้นดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

  1. ช่วงเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่

ที่จริงเรื่องนี้อาจจะต้องตรวจสอบในแต่ละพื้นที่ด้วย สำหรับประเทศไทยจะมีสิ่งที่เรียกว่า “อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU” หรืออัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (ใครสนใจสามารถติดต่อยื่นคำข้อใช้ไฟแบบนี้กับ กฟผ. ได้ครับ) ซึ่งโดยปกติแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะแบ่งช่วงเวลาการคิดเงินออกเป็นสองช่วงหลัก ๆ คือ

Peak : เวลา 09:00 – 22:00 น. วันจันทร์ – ศุกร์
Off-Peak : เวลา 22:00 – 09:00 น.วันจันทร์ – ศุกร์ และ เวลา 00:00 – 24:00 วันเสาร์ – อาทิตย์

ซึ่งช่วง Peak คือช่วงที่ค่าไฟจะแพงกว่า Off-Peak และที่สำคัญคือพลังงานไฟฟ้าจะมาจากหลายแหล่งเพราะมีความต้องการใช้งานที่สูงกว่าปกติ รวมไปถึงแหล่งพลังงานสะอาดต่าง ๆ ก็จะถูกดึงมาใช้ตอนนี้ แต่สำหรับช่วง Off-Peak ค่าไฟฟ้าจะถูกลง เพราะพวกเขาสามารถเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานที่ถูกกว่าอย่างถ่านหินและก๊าซ ซึ่งตรงนี้สร้างมลภาวะมากกว่า

สมมุติว่าไฟฟ้าช่วงพีคต้องผลิต 100 หน่วย มาจากแก๊ส 50% ลม 30% น้ำ 10% แดด 10% แบ่งไป 10 บ้าน ก็ใช้บ้านละ 10 หน่วย ซึ่งพลังงานสะอาดก็คือ 50% ช่วง off-peak ต้องการแค่ 50 หน่วย โรงไฟฟ้าก็จะผลิตจากแก๊ส 100% เลย ซึ่งก็ไม่มีพลังงานสะอาดเลย

เพราะฉะนั้นถ้าอยากช่วยลดมลภาวะในการชาร์จรถไฟฟ้าจริง ๆ คือการชาร์จช่วง Peak เพราะมีการดึงไฟจากแหล่งพลังงานสะอาดมาใช้ อาจจะต้องไปชาร์จที่ทำงานหรือสถานีใกล้ ๆ ออฟฟิศแทนที่จะชาร์จที่บ้าน แต่แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ยาก แต่ทางแก้ที่ดีที่สุดคือการมีแหล่งพลังงานสะอาดในปริมาณที่มากเพียงพอนั่นแหละ

  1. อุณหภูมิและสภาพอากาศ

ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัดล้วนไม่เป็นผลดีต่อแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น ในช่วงที่อากาศหนาวจัดในบางประเทศทำให้แบตเตอรี่ใช้งานได้ประมาณ 75 – 80% ของความจุแบตเตอรี่ทั้งหมด สมมติว่าจากที่เคยวิ่งได้ 300 กิโลเมตรต่อชาร์จอาจจะวิ่งได้แค่ 220 – 240 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนในสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างประเทศในแถบบ้านเราก็ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วทำให้อายุการใช้งานสั้นกว่าปกติ ซึ่งการเสื่อมสภาพนี้ก็ทำให้แบตเตอรี่วิ่งได้น้อยลงต่อการชาร์จแต่ละครั้งด้วย การชาร์จที่บ่อยขึ้นและแบตเตอรี่ที่เสื่อมเร็วก็สร้างมลภาวะอันไม่พึงประสงค์ตามมาด้วย แต่อย่างที่เราเห็นว่าตอนนี้เทคโนโลยีในการสร้างแบตเตอรี่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปปัญหาตรงนี้อาจจะไม่เป็นเรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไป

สำหรับคนที่กำลังสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและหาข้อมูลว่ามันดีต่อสภาพแวดล้อมจริง ๆ ไหม คำตอบที่น่าจะชัดเจนคือในระยะยาวแล้วมันดีกว่าอย่างชัดเจน แม้ตอนนี้ยังบอกได้เลยว่ามันไม่ได้ “กรีน” ทั้งหมด 100% เพราะยังสร้างมลภาวะในทางอ้อมพอสมควร ตั้งแต่แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่ใช่พลังงานสะอาด รวมถึงการขุดเหมืองและการสร้างแบตเตอรี่ที่ยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากในอนาคต เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถรีไซเคิลแบตเตอรี่ได้ ขุดเหมืองโดยใช้แหล่งพลังงานสะอาด ชาร์จไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ตอนนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นทางเลือกที่ชัดเจนโดยทันที แม้ว่าจะยังอีกไกล แต่เชื่อว่าเรากำลังเดินไปถูกทางแล้ว

ที่มา:

iopscience.iop.org epa.gov electrek.co

volkswagenag.com electrek.co 2 การไฟฟ้า PEA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส