คณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรค (U.S. Preventive Services Task Force: USPSTF) ได้ระบุคำแนะนำที่อาจสร้างการสั่นสะเทือนในวงการอาหารเสริมว่า การทานวิตามินอี (Vitamin E) และเบต้าแคโรทีน (beta-carotene) นั้นไม่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease: CVD) หรือโรคมะเร็งได้ เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่เพียงพอ!
USPSTF ชี้ว่าหลักฐานที่มีในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าอาหารเสริมวิตามินรวม (multivitamin supplements) และอาหารเสริมที่มีสารอาหารเดี่ยวหรือสองอย่าง (single or paired nutrient supplements) สามารถป้องกันการเกิด CVD และโรคมะเร็งได้ ที่สำคัญคือนอกจากวิตามินดังกล่าวจะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้แล้ว ยังมีอาหารเสริมบางตัวที่อาจเป็นภัยอีกด้วย ได้แก่
วิตามิน อี (Vitamin E)
USPSTF วิเคราะห์ข้อมูลโดยสุ่มจากการทดลองระดับคลินิก 9 แห่ง (randomized clinical trials) (จำนวนผู้เข้าร่วมการทดลอง: n = 107,772) เกี่ยวกับผลลัพธ์จากอาหารเสริมวิตามิน อี ซึ่งการศึกษาชี้ให้เห็นว่า วิตามิน อี ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่ช่วยเกี่ยวกับการเสียชีวิตหลังการติดตามผลยาวนาน 3 ถึง 10 ปี และไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือการป้องกันมะเร็งเช่นเดียวกัน
ไม่เพียงเท่านั้นทางคณะยังแนะนำอีกว่า นอกจากการทานวิตามิน อี เป็นอาหารเสริมจะไม่มีประโยชน์แล้วยังเพิ่มโอกาสเกิดภาวะเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) อีกด้วย
เบต้า แคโรทีน (Beta Carotene)
USPSTF วิเคราะห์ข้อมูลโดยสุ่มจากการทดลองระดับคลินิก 6 แห่ง เกี่ยวกับผลลัพธ์จากอาหารเสริม เบต้า แคโรทีน รวมถึง 1 การทดลองที่ผู้ใช้ได้รับวิตามิน เอ (Vitamin A) ร่วมด้วย และไม่พบหลักฐานทางสถิติที่เป็นนัยสำคัญที่จะสรุปได้ว่า เบตา แคโรทีน ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต หลังการติดตามผลยาวนานระหว่าง 4 ถึง 12 ปี
นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่า เบต้า แคโรทีน ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นอีกด้วย!
ผลลัพธ์ทั้งหมดทำให้ USPSTF สรุปว่า ข้อเสียจากเบต้า แคโรทีนนั้นมากกว่าข้อดีในเรื่องการป้องกันโรค CVD และมะเร็ง โดยระบุคุณภาพหลักฐานวิชาการในระดับ Moderate จากการจัดระดับคุณภาพของหลักฐานวิชาการ 4 ระดับ ได้แก่ High, Moderate, Low และ Very Low
สรุปข้อแนะนำจาก USPSTF
ท้ายที่สุดนี้ USPSTF แนะนำว่า วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่คือการทานอาหารอย่างพอดี ได้รับสารอาหารที่สมดุล โดยการทานอาหารที่มีสารอาหารสูง เช่น ผลไม้, ผัก, ธัญพืช, นมปราศจากไขมัน และไขมันต่ำ และอาหารทะเลที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง
ที่มา: USPSTF, CancerTherapyAdvisor, MedicineMatters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส