อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันที่ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งตลอดกาล ถือกำเนิดในปี 1879 และเสียชีวิตลงในปี 1955 ด้วยวัย 76 ปี ผู้คนต่างยกย่องให้เขาเป็น ‘อัจฉริยะ’ เนื่องจากผลงานอันน่าทึ่งมากมายตลอดช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ชายผู้นี้แตกต่างไปจากคนอื่น ทำไมเขาถึงได้ฉลาดปราดเปรื่อง จินตนาการที่ลึกล้ำมาจากไหนกัน แต่ในบรรดาคนที่สงสัยทั้งหมดไม่มีใครที่พยายามหาคำตอบมากไปกว่า โทมัส ฮาร์วีย์ (Thomas Harvey) นักพยาธิวิทยาที่พยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่อไขความลับความฉลาดของไอน์สไตน์ให้ได้ ถึงขั้นขโมยสมองของไอน์สไตน์เพื่อการนี้เลยทีเดียว
ไอน์สไตน์เสียชีวิตจากหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้องในปี 1955 ในเมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สมองของเขาถูกนำออกเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมโดยฮาร์วีย์ซึ่งเป็นนักพยาธิวิทยาที่โรงพยาบาลพรินซ์ตัน (Princeton Hospital) ที่ไอน์สไตน์เสียชีวิต หลังจากฮาร์วีย์ชันสูตรศพของไอน์สไตน์เรียบร้อยแล้ว แทนที่จะนำสมองคืนใส่กะโหลก ฮาร์วีย์กลับตัดสินใจใส่มันเอาไว้ในโถที่มีน้ำยาฟอร์มาลีนและนำไปเก็บไว้ในห้องใต้ดินที่บ้าน
เขาคาดหวังว่าสิ่งที่ทำจะนำไปสู่กุญแจไขความลับความเฉลียวฉลาดของไอน์สไตน์ นอกจากขโมยสมองของไอน์สไตน์ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว เขายังเก็บดวงตาของไอน์สไตน์เอาไปให้ดอกเตอร์ เฮนรี อดัมส์ (Dr. Henry Adams) ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ของไอน์สไตน์ด้วย ส่วนที่เหลือของร่างกายถูกเผาและขี้เถ้าก็ถูกครอบครัวนำไปโปรยโดยไม่มีการระบุว่าที่ไหน
ครอบครัวของไอน์สไตน์เมื่อทราบเรื่องนี้ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ฮาร์วีย์ได้พูดจาโน้มน้าวอธิบายถึงเหตุผลที่ทำลงไป สุดท้ายครอบครัวก็อนุญาตให้ฮาร์วีย์เก็บสมองของไอน์สไตน์เอาไว้ โดยฮาร์วีย์ต้องสัญญาว่าสมองจะถูกนำไปใช้ศึกษาทางการแพทย์และตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น
แม้ว่าสุดท้ายครอบครัวจะเห็นดีด้วยก็ตาม แต่สิ่งที่ฮาร์วีย์ทำนั้นถือว่าเป็นการขัดต่อความต้องการของไอน์สไตน์อยู่ดี เพราะก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิตไม่นาน เขาได้เขียนจดหมายไปหาเพื่อนสนิทบ่งบอกความตั้งใจว่าเขาอยากให้ศพของเขานั้นถูกเผาและขี้เถ้าเอาไปโปรยในสถานที่ที่ไม่ต้องบอกใคร ในจดหมายนั้นเขียนว่า “อย่าให้คนป่าเถื่อนเหล่านั้นมีความสุข” ซึ่งในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตที่ป่วย เขาทราบดีว่าตัวเองใกล้ถึงจุดจบของชีวิตแล้ว “ผมอยากให้ศพของตัวเองถูกเผา เพื่อที่จะได้ไม่มีใครมากราบไหว้บูชาโครงกระดูกที่เหลืออยู่”
การตัดสินใจของฮาร์วีย์นั้นเป็นสิ่งที่ผิดทั้งทางการแพทย์และทางกฎหมาย นอกจากจะทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว เขายังไม่ใช่ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางสมองหรือเป็นศัลยแพทย์ประสาทด้วย แต่ดูเหมือนเขาไม่สามารถต้านทานความอยากรู้อยากเห็นของตัวเขาเอง เผื่อว่าสมองที่อยู่ในโถแก้วจะกลายเป็นกุญไขความลับสู่ความเฉลียวฉลาดของมนุษยชาติได้
เกือบ 40 ปีต่อมาฮาร์วีย์เก็บสมองของไอน์สไตน์ไว้อย่างดี เหมือนว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาก็ว่าได้ หลายคนพยายามหาวิธีไขความลับของสมองของอัจฉริยะ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่มีการตีพิมพ์งานวิจัยอะไรสักชิ้น สุดท้ายเขาได้ใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายสมองของไอน์สไตน์ไว้หลายสิบรูปก่อนที่จะหั่นเป็นแผ่นบางกว่า 240 ชิ้น ต่อจากนั้นก็ตัดสินใจส่งชิ้นส่วนของสมองไปให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยคนอื่น ๆ เพื่อศึกษา โดยหวังว่านักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะค้นพบอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ
ดอกเตอร์ มาเรียน ไดมอนด์ (Dr. Marian Diamond) จากมหาวิทยาลัย California Berkeley เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับชิ้นส่วนของสมองจากฮาร์วีย์ เธอได้ทำการวิเคราะห์ชิ้นส่วนดังกล่าวและพบบางอย่างที่น่าสนใจ สมองของไอน์สไตน์นั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Glial Cells’ (เซลล์ค้ำจุนระบบประสาท ทำหน้าที่สำคัญคือ ค้ำจุนระบบประสาทส่วนกลาง นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์ประสาท ขับถ่ายของเสียออกจากเซลล์ประสาทและเป็นทำนบกั้นไม่ให้สารเคมีหรือเชื้อโรคบางชนิดเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง) มากกว่าคนปกติที่อายุใกล้กันกว่า 73% เธอได้ตีพิมพ์การค้นพบครั้งนี้ในนิตยสาร ‘Experimental Neurology’ โดยสันนิษฐานว่านี่อาจจะหมายความว่าเซลล์ต้องการใช้พลังงานมากขึ้น นำมาสู่ทักษะในการคิดและจินตนาการ แม้งานวิจัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต่อมาภายหลังได้หักล้างข้อสันนิษฐานอันนี้ อย่างน้อยแนวคิดนี้ก็ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถืออย่างที่ครอบครัวของไอน์สไตน์ได้ร้องขอไว้ในตอนแรก
การตัดสินใจขโมยสมองของนักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้ล่วงลับไปนั้นส่งผลลัพธ์อันเลวร้ายต่อชีวิตของฮาร์วีย์ไม่น้อย ไม่ว่ายังไงก็ตาม ดูเหมือนว่าฮาร์วีย์จะเชื่อมั่นการดูแลรักษาสมองและส่งต่อมันให้คนที่มีความสามารถจะช่วยทำให้ค้นพบกับต้นตอของความเฉลียวฉลาดของไอน์สไตน์ได้ แต่จนแล้วจนรอดตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเขาไม่เคยพบอะไรที่ทำให้มันแตกต่างจากสมองของคนทั่วไปเลย หลังจากถูกจับได้ว่าเขาขโมยสมองของไอน์สไตน์ ฮาร์วีย์ก็ถูกไล่ออกจากงานที่โรงพยาบาล ถูกเพื่อนหลายคนเลิกคบหาและถูกยึดใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
ก่อนที่ฮาร์วีย์จะเสียชีวิตในปี 2007 เขาตัดสินใจบริจาคส่วนที่เหลือของสมองไอน์สไตน์ให้กับพิพิธภัณฑ์สุขภาพและการแพทย์แห่งชาติ (National Museum of Health and Medicine) ในรัฐแมริแลนด์ แต่ตอนนี้ที่เดียวในโลกที่บางส่วนของสมองได้ถูกนำมาแสดงคือที่พิพิธภัณฑ์มูเตอร์ (Mutter Museum) ในเมืองฟิลาเดลเฟียพร้อมกับโน้ตที่เขียนโดยฮาร์วีย์เองด้วย
อ้างอิง: Medium NPR
IndiaToday allthatsinteresting damninteresting
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส