หลังจากได้มีการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope – JWST) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ถูกส่งออกไปไกลที่สุด และคาดว่าจะได้ภาพถ่ายอวกาศที่ชัดที่สุดที่เคยมีมา ล่าสุดเราได้ภาพถ่ายภาพแรกจากกล้องฯ เจมส์ เว็บบ์เรียบร้อย ซึ่งเป็นภาพถ่ายอินฟราเรดของส่วนลึกที่สุดในอวกาศที่มนุษยชาติเคยถ่ายมา
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ของนาซา ได้ถ่ายภาพส่วนที่ลึกที่สุดและคมชัดที่สุดที่เคยถ่ายมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการถ่ายภาพกระจุกกาแลกซี่ SMACS 0723 หรือที่เรียกกันว่า ‘Deep Field’
ภาพถ่ายนี้ประกอบไปด้วยกาแลกซีหลายพันกาแลกซี่ รวมถึงวัตถุที่เคยจางจนไม่ปรากฎบนภาพถ่ายครั้งอื่นก็ได้ปรากฎขึ้นบนภาพถ่ายของกล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ โดยภาพถ่ายที่กว้างใหญ่นี้ จริง ๆ แล้วเหมือนเป็นเพียงแค่เศษเม็ดทรายเท่านั้น เมื่อเทียบกับขนาดของจักรวาลทั้งหมด
ซึ่งภาพนี้ เป็นการรวบรวมภาพถ่ายที่มีความยาวคลื่นต่างกันที่กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ ได้ถ่ายไว้เป็นเวลา 12.5 ชั่วโมง และสร้างมาเป็นภาพที่มาความยาวคลื่นอินฟราเรดยาวกว่าความยาวคลื่นสูงสุดที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการสร้างเสียอีก
ภาพถ่ายของกระจุกกาแลกซี SMAC 0723 ที่จะได้เห็นกันนี้ เป็นภาพของกระจุกกาแลกซี่นี้เมื่อ 4,300 ล้านปีก่อน (คือเป็นภาพที่ห่างไป 4,300 ล้านปีแสง ภาพที่เราเห็นปัจจุบัน จึงเป็นภาพอดีต) ซึ่งมวลของกาแลกซีจำนวนมหาศาลนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนเลนส์ที่สร้างจากแรงโน้มถ่วง และดึงแสงจากกาแลกซีที่ห่างไกลออกไปอีกให้มาอยู่ในระยะโฟกัสของกล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ ได้ ซึ่งกาแลกซี่เหล่านี้มีโครงสร้างแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งแบบกระจุกดาวและแบบกระจัดกระจาย ในไม่ช้า นักวิจัยจะเริ่มศึกษาเกี่ยวกับมวล อายุ ประวัติศาสตร์ ของกาแลกซีเหล่านี้ ในขณะที่กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ ดำเนินภารกิจในการหากาแลกซี่ที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาลต่อไป
ต่อมาในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นไทย NASA ได้เปิดภาพเพิ่มเติมที่ได้จากกล้อง JWST ซึ่งเราคนไทยสามารถติดตามดูถ่ายทอดสดได้ทางเว็บไซต์นี้ ซึ่งเปิดเพิ่มเติม 3 รูปนี้
โดยในภาพแรกด้านบน (เลื่อนดูได้) จะเป็นภาพของกลุ่มกาแลกซี่ Stephan’s Quintet ซึ่งเป็นกาแลกซี่ 5 กาแลกซี่ที่อยู่ใกล้กันมาก และถูกดึงดูดเข้าหากันและถูกเหวี่ยงด้วยแรงดึงดูดมหาศาล ซึ่งจะรวมกันเป็นกาแลกซี่ขนาดมหึมาในอนาคต การศึกษากลุ่มกาแลกซี่นี้จะทำให้เราเห็นรายละเอียดการชนหรือการสะกิดกันระหว่างดาวฤกษ์หรือกาแลกซี่มากขึ้น ซึ่งในอนาคตกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเราและกาแลกซี่แอนโดรเมดา ก็จะเคลื่อนที่มาชนกันเหมือนกับกลุ่มนี้เช่นกัน
ส่วนรูปภาพที่ 2 คือรูปเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) เป็นเนบิวลาหรือกลุ่มก้อนแก๊สและฝุ่นละอองที่เกิดจากซากการระเบิดของดวงดาวในอวกาศที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 230 ปีแสง ซึ่งกลุ่มฝุ่นละอองนี้จริง ๆ ก็ไม่ได้อยู่ไกลจากเรามาก สามารถมองเห็นได้ถ้าเกิดไม่มีแสงรบกวน อย่างไรก็ตาม กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ ก็สามารถถ่ายภาพเนบิวลานี้มาได้อย่างชัดเจน จนสามารถมองทะลุไปเห็นดาวฤกษ์ต่าง ๆ ด้านหลังได้อีกด้วย
และรูปสุดท้ายคือรูป Southern Ring Nebula เป็นเนบิวลาประเภทดาวเคราะห์ (Planetary Nebula) หรือเนบิวลาที่เกิดจากกกลุ่มแก๊สที่ลอยตัวอยู่รอบ ๆ ดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายลง อยู่ห่างออกไปจากโลก 2,000 ปีแสง และมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดครึ่งปีแสงเลยทีเดียว
ที่มา: NASA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส