19 สิงหาคม สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เผยว่าได้เซ็นสัญญากับ SKY Perfect JSAT ของญี่ปุ่นในการปล่อยดาวเทียมโทรคมนาคมระบบดิจิทัล Superbird-9 ที่ให้บริการแพร่ภาพโทรทัศน์ บรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม การเชื่อมต่อทางทะเลและทางอากาศ ไปสู่วงโคจรค้างฟ้าด้วยระบบขนส่งอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ภายในปี 2024
Superbird-9 เป็นดาวเทียมสื่อสารรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นสำหรับให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (DTH) และบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในย่าน Ku- และ Ka-band ครอบคลุมพื้นที่ในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก และมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 15 ปี
สัปดาห์ที่แล้ว สเปซเอ็กซ์พึ่งทดสอบจุดระเบิดเครื่องยนต์จรวดขณะที่ยึดไว้อยู่กับที่ (Static fire) ของ Booster 7 ต้นแบบของจรวด Super Heavy ได้สำเร็จ และยังได้ทำการทดสอบ Static Fire เครื่องยนต์ Raptor จำนวน 2 ใน 6 ตัวบนต้นแบบ Starship 24 เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทดสอบบินไปยังอวกาศครั้งแรก
สเปซเอ็กซ์มีแผนจะทำการบินทดสอบต้นแบบยานสตาร์ชิปจากหมู่บ้านโบคาชิกาหรือที่เรียกว่าสตาร์เบส ไปสู่อวกาศแล้วกลับมาลงจอดในมหาสมุทรนอกฝั่งฮาวายโดยใช้จรวด Super Heavy เป็นบูสเตอร์ที่จะบินกลับมาลงจอดในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้าเมื่อได้รับใบอนุญาตในการปล่อยภารกิจจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA)
สตาร์ชิปเป็นระบบขนส่งอวกาศขนาดใหญ่แบบนำกลับมาใช้ใหม่ที่เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับระบบลงจอดของภารกิจ Artemis III ที่อยู่ในโครงการอาร์เทมิสของนาซา ซึ่งจะส่งมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบบนดวงจันทร์ที่ขั้วใต้ภายในปี 2024 โดยจะใช้จรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion นำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์และจะใช้ยานสตาร์ชิปนำนักบินอวกาศไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ จากนั้นจะตั้งฐานบนดวงจันทร์เพื่อบินต่อไปยังดาวอังคาร
ในอนาคตสเปซเอ็กซ์ยังมีแผนที่จะใช้สตาร์ชิปให้บริการเดินทางไปรอบโลกด้วยความเร็วเหนือเสียงแบบไฮเปอร์โซนิก และถูกเล็งให้มีส่วนในโครงการ Rocket Cargo ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในการใช้จรวดขนาดใหญ่ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับบรรทุกสัมภาระและยุทโธปกรณ์ขนาด 100 ตันโดยบินขึ้นไปตามแนววงโคจรของโลกแล้วกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมาลงจอดในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกได้ในเวลา 1 ชั่วโมง นอกจากนี้สเปซเอ็กซ์ยังมีแผนจะนำสตาร์ชิปมาปรับใช้ในการปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์อีกด้วย
ที่มา : cnet และ aerospace-technology
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส