เชื่อว่าคนขับรถทุกคนเคยผ่านประสบการณ์นี้กันมาแล้วทั้งนั้นล่ะครับ การที่เราใช้เส้นทางประจำระหว่างบ้านและที่ทำงาน ขับไปกลับจนชินจนเข้าสู่ภาวะ Highway Hypnosis” หรือ “การตกอยู่ในภวังค์บนถนน”

ภาวะ Highway Hypnosis นั้น เป็นไปโดยธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อสมองเราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาจริงจังขณะที่เรากำลังขับรถ อย่างเช่นขับ ๆ อยู่มีเพลงโปรดดังขึ้นมา แล้วเราก็อินไปกับเนื้อหาและทำนองของเพลงนั้น หรือ ย้อนคิดเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในที่ทำงานวันนี้ สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ในขณะที่เราตกอยู่ในภวังค์นั้น สติสัมปชัญญะเรายังทำงานได้ดีและสามารถขับรถได้อย่างระแวดระวัง นั่นแสดงให้เห็นว่า จิตสำนึกของมนุษย์เรานั้นมีความซับซ้อนยิ่งนักและทำงานได้อย่างน่าทึ่ง สามารถประมวลผลและตอบสนองต่อข้อมูลได้หลายระดับพร้อมๆ กัน จึงเป็นเรื่องพิศวงที่นักประสาทวิทยาทำการศึกษาเรียนรู้มาโดยตลอด

นักประสาทวิทยาเคยทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและมีบันทึกเป็นบทความครั้งแรกในปี 1921 ในวันนั้นใช้คำจำกัดความของภาวะนี้ว่า ‘Road Hypnotism’ เรื่อยมาจนถึงปี 1963 จี.ดับเบิ้ลยู. วิลเลียมส์ (G. W. Williams) จึงได้นิยามคำใหม่ขึ้นมาว่า ‘Highway Hypnosis’ ในช่วงนั้นมีการคาดเดากันไปเองว่า คือสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ในภายหลัง นักวิจัยก็ออกมาแก้ต่างความเชื่อเดิม ๆ ว่า การขับรถในขณะที่ง่วงนอนต่างหากที่เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ และนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้คนเริ่มทำงานกันหนักขึ้นและทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ

ขับรถได้ปลอดภัยในในขณะที่อยู่ในภาวะ Highway Hypnosis

เคยมีคำอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า ‘จิตสำนึก’ ของคนเรานั้นเปรียบเหมือนยอดของภูเขาน้ำเแข็งที่มองเห็น แต่ ‘ภาวะจิตใต้สำนึก’ นั้นสิเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมาที่จมอยู่ใต้ผิวน้ำ การทำงานของจิตใต้สำนึกนั้นยังมีเรื่องราวอีกมากให้ต้องศึกษาเรียนรู้ต่อไป แต่ในเรื่องที่ศึกษากันมายาวนั้น มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่นักประสาทวิทยาทั้งหลายให้ความสนใจกันมากคือ มนุษย์เราสามารถ รับรู้ และ ตอบโต้ ต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้โดยที่ไม่ต้องอยู่ในภาวะตระหนักรู้ (Awareness)

การที่ร่างกายเราสามารถตอบสนองต่อภาวะต่าง ๆ รอบตัวได้โดยอัตโนมัตินั้น นักประสาทวิทยาเรียกอาการนี้ว่า ‘Priming’ นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมเรา ๆ ถึงขับรถได้อย่างปลอดภัยโดยที่จิตใจกำลังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอื่น แต่ต้องแยกให้ขาดกับการขับรถในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย องค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา (The National Highway Traffic Safety Administration) ได้มีการบันทึกสถิติไว้ว่า การขับรถในขณะที่ง่วงนอนนั้นก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 10,000 ครั้งต่อปี และเสียชีวิตถึงกว่า 6,500 รายต่อปี เมื่อคุณอยู่ในสภาวะง่วงซึม ร่างกายจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้ารอบด้านได้ช้าลง และการระมัดระวังต่อรถรอบข้างก็จะด้อยลง

Highway Hypnosis เป็นพรสวรรค์ของมนุษย์

แม้ว่าจิตของเราจะทำงานที่ซับซ้อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่การที่จิตเราสามารถทำงานโต้ตอบกับสภาวะต่าง ๆ รอบตัวได้โดยอัตโนมัติแบบนั้นโดยที่บางครั้งเราไม่อยู่ในภาวะตระหนักรู้ หรือใช้สติสัมปชัญญะไตร่ตรองก่อน ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน ในแต่ละวันร่างกายเราทำสิ่งละอันพันละน้อยโดยอัตโนมัติมากมายนัก โดยเฉพาะในเรื่องที่เราทำประจำจนชำนาญแล้ว ยกตัวอย่างเช่นการขี่จักรยานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการรักษาสมดุล เราสามารถเดินไปคุยไปกับเพื่อนได้ เราอ่านบทความต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งเรื่องไหนที่เราทำในชีวิตประจำวันบ่อยครั้งมากขึ้น เราก็จะขาดการตระหนักรู้ในระหว่างที่กระทำสิ่งนั้น ๆ มากขึ้นไปด้วย และนับวันถ้าเรายังคงทำกิจวัตรเดิม ๆ ต่อไป เราก็จะยิ่งพัฒนาความชำนาญในการกระทำนั้นมากขึ้นไปเรื่อย ๆ และอาจจะเพิ่มการกระทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้มากขึ้น ตราบใดที่สภาวะจิตเรายังคงทำงานได้อย่างเสถียรมั่นคง

เช่นเดียวกับการขับรถในสภาวะ Highway Hypnosis นั้น เราสามารถมั่นใจได้เลยว่า สภาวะจิตของเรานั้นทำงานได้อย่างน่าทึ่ง แม้ว่าในหัวเรายังคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ขณะที่กำลังขับรถ แต่ถ้าเมื่อใดที่รถคันนั้นกระทืบเบรก หรือมีมอเตอร์ไซค์ตัดหน้ารถ สติเราจะหยุดคิดเรื่องอื่น แล้วกลับมาให้ความสำคัญกับสภาวะเบื้องหน้าได้อย่างทันที และปฏิกิริยานี้ล่ะ คือข้อแตกต่างสำคัญของการขับรถในภาวะ Highway Hypnosis กับการขับรถในขณะที่ง่วงนอน

ที่มา