ใครที่เคยดูภาพยนตร์ Alita : Battle Angel คงจะรู้จักเมืองลอยฟ้าที่ชื่อว่า Zalem ที่แบ่งผู้คนในสังคมช้้นสูงขึ้นไปอยู่ในเมืองทรงกลมแห่งนี้ ในวันนี้มีสถาปนิกเริ่มต้นโครงการยักษ์ด้วยการออกแบบเมืองลอยฟ้าที่คล้าย ๆ กับ Zalem ขึ้นมาแล้ว

Zalem เมืองลอยฟ้าในหนัง Alita : Battle Angel

โปรเจกต์ที่มาพร้อมวิสัยทัศน์แห่งโลกอนาคตนี้ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Znera Space ที่มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์สุดล้ำด้วยการสร้างอาคารเป็นรูปวงแหวนขนาดยักษ์ซึ่งจะเปลี่ยนท้องฟ้าของดูไบไปตลอดกาล โปรเจกต์นี้มีชื่อว่า DownTown Circle จะลอยอยู่เหนือพื้นดินที่ความสูง 550 เมตร มีเส้นรอบวงยาว 3 กิโลเมตร และสร้างขึ้นล้อมรอบอาคารเบิร์จคาลิฟา สถาปนิกผู้มากับวิสัยทัศน์สุดทะเยอทะยานนี้ยังเชื่อมั่นอีกว่าโครงการนี้จะเปลียนรูปแบบใหม่ของการที่อยู่อาศํยแบบสังคมปิดและการใช้ชีวิตในอาคารสูงไปตลอดกาล ไม่เพียงแค่นั้น สถาปนิกยังหมายมั่นให้ DownTown Circle เป็นอาคารที่มีอายุยืนยาวและผู้คนภายในอาคารสามารถดำรงชีวิตกันได้เองโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยจากสังคมด้านนอก

อาคารทรงกลม DownTown Circle นี้จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นหลาย ๆ ส่วน เช่นพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณประโยชน์ และพื้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรม

สถาปนิกหลักของโครงการนี้ก็คือ นาจมุส ชอว์ดรี้ (Najmus Chowdry) และ นิลส์ รีเมส (Nils Remess) สองผู้ร่วมก่อตั้ง Znera Space ผลงานที่ผ่านมาของทั้งคู่นี้ มักจะเป็นงานสถาปัตย์รูปแบบใหม่ที่มักจะก้ามข้ามขอบเขตของสังคมและรูปแบบเดิม ๆ ที่คุ้นชินกันอยู่เสมอ

ทั้งคู่เผยว่าไอเดียนี้ผุดขึ้นมาในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้เขาทั้งคู่คิดปฏิวัติรูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิตในเมือง หรือในอาคารสูง

“เราย้อนกลับไปถึงรูปแบบพื้นฐานของชุมชนแบบสังคมปิดที่ล้วนแต่อยู่บนสิ่งแวดล้อมในพื้นราบ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปในดูไบนี้สังคมแออัดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางที่ดีที่สุดเราจึงต้องศึกษาและคิดค้นรูปแบบการอยู่อาศัยในสังคมเมืองโดยเฉพาะ”

“แนวความคิดของเราก็คือการสร้างที่อยู่อาศัยในแนวตั้ง ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้เราต้องมาขบคิดกันหนักว่าจะสร้างที่อยู่อาศัยในรูปแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด และเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด เราจะสร้างสรรค์รูปแบบการดำรงชีวิตในเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทำให้เราต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ทั้งเรื่อง การกำจัดขยะ, การผลิตอาหาร, ปัญหาการจราจร รวมไปถึงมลภาวะ เราเอาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มารวมกันแล้วก็ออกมาเป็นแนวความคิดของ Downtown Circle”

อาคาร Downtown Circle จะแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ตัวอาคารวงแหวนนี้จะวางอยู่บนเสา 5 ต้น ส่วนอาคารวงแหวนนั้น จะแบ่งแยกออกเป็นอาคารหลัก 2 ส่วน แล้วจะเชื่อมหากันด้วยพื้นที่สีเขียว เรียกว่า “Skypark” ซึ่งจะเชื่อมพื้นที่แต่ละชั้นในแนวตั้ง ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศขึ้นภายในโครงการ เป้าหมายหลักของเราอย่างหนึ่งก็คือ เกษตรกรรม หลาย ๆ เมืองนั้น ส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นในรูปแบบเมืองเกษตรกรรมแล้วค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นสังคมเมือง พื้นที่เกษตรก็จะลดน้อยถอยลง หลาย ๆ เมืองประสบปัญหากันว่าจะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมกลับลงไปได้อย่างไร เราจึงนำปัญหานี้มาใช้เป็นแนวความคิดเริ่มต้นของโครงการให้เป็นเมืองที่ดำรงชีวิตกันได้ด้วยตัวเอง”

ภายในพื้นที่ Skypark จะประกอบไปด้วย บึง, น้ำตก, พื้นที่ปลูกพืชผัก และดอกไม้ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนปอดของเมือง ทีมผู้ออกแบบยังคาดการณ์ไว้ว่า Skypark จะมีพื้นที่กักเก็บน้ำฝน และพลังแสงอาทิตย์ไว้ใช้งานได้อีกด้วย และระบบกักคาร์บอน ระบบกรองมลภาวะในอากาศ

Skypark

พื้นที่รอบนอกของอาคารวงแหวนจะมีรางรถโดยสารไว้บริการ ซึ่งงานในส่วนนี้ได้ studio Pictown จากโปแลนด์มาช่วยออกแบบ จะมีรถสาธารณะจำนวน 20 ตู้ เดินทางรอบเมืองด้วยความเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ ของเมืองวงแหวน ซึ่งระหว่างเดินทางก็จะได้ชมวิว 360 องศารอบเมืองไปด้วย

แนวความคิดที่จะออกแบบให้ชุมชนใน Downtown Circle นั้นสามารถดำรงชีวิตกันได้ด้วยตัวเองนั้น คล้าย ๆ กับอภิมหาโปรเจกต์ The Line ในเมืองนีออม, ซาอุดิอาระเบีย แต่จุดที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่าง 2 โครงการยักษ์นี้ก็คือ อาคารวงแหวน Downtown Circle นั้นจะสร้างขึ้นท่ามกลางเมืองดูไบ ในขณะที่ The Line นั้นจะไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ในพื้นที่ทะเลทราย ซึ่ง ชอว์ดรี้ และ รีเมส จึงต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชนเมืองอย่างมาก ทั้งเรื่องรูปแบบโครงสร้างสังคม สภาพเศรษฐกิจ เพื่อที่จะให้สังคมภายใน Downtown Circle กลายเป็นรูปแบบสังคมที่ยั่งยืน การที่จะทำให้โครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำให้พวกเขาตื่นเต้นกันอย่างมาก

ที่มา