ในช่วงที่ฝนตกชุก ๆ แบบนี้ ถ้าบ้านใครมีสนามหญ้า หรือพื้นที่ที่ยังเป็นผิวดินอยู่ เราจะเห็นสังเกตเห็นได้ว่าบางครั้งน้ำที่ระบายไม่ทัน ก็ท่วมขังอยู่บนผิวดินแต่ช่วงเวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็จะถูกดูดซึมลงพื้นเบื้องล่างหายไปหมด แล้วเคยย้อนคิดไหมว่า ในเมื่อพื้นที่ที่เป็นดินนั้นสามารถดูดซึมน้ำปริมาณมหาศาลลงสู่พื้นโลกเบื้องล่างได้หมดแบบนี้ แล้วทำไมล่ะ พื้นล่างของแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามธรรมชาติก็เป็นผิวดินเหมือนกัน แต่ทำไมน้ำยังคงอยู่ตลอดไป ไม่เห็นจะถูกดูดซึมลงพื้นโลกเหมือนน้ำขังบนบกบ้างเลย
มีหลายคนสงสัยในเรื่องนี้ครับ แล้วก็มีการโพสต์ถามบนโลกออนไลน์ คนที่อาสามาตอบก็น่าเชื่อถือดีครับ เขาคือ โจน วู (Joan Wu) นักอุทกวิทยา ที่อธิบายหลักการและเหตุผลในเรื่องนี้ได้เข้าใจง่ายดีครับ
โจน วู เป็นนักอุทกวิทยาประจำมหาวิทยาลัย วอชิงตัน สเตท เธอมีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับน้ำบนโลกมนุษย์เรา และทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับน้ำอย่างจริงจัง วูได้อธิบายว่าพื้นผิวดินบนบก กับพื้นผิวของก้นสระ นั้นมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน และนั่นเป็นเหตุผลให้น้ำใน หนอง คลอง บึง ถึงไม่ถูกดูดซึมลงพื้นโลก
วูบอกให้เราลองคิดภาพตามที่เธออธิบายดังนี้ ลองนึกภาพโหลใบหนึ่งที่ภายในบรรจุก้อนหินไว้จนเต็มไปหมด แต่เมื่อใส่หินลงไปจนเต็มโหลแล้วก็ตามที เราจะมองเห็นช่องว่างมากมายระหว่างหินแต่ละก้อน ถึงตอนนี้ถ้าเราเทน้ำลงไป น้ำก็จะไหลไปเติมเต็มพื้นที่ว่างเหล่านี้
งั้นมาทดลองขั้นต่อไปกัน โหลหนึ่งใบใส่ก้อนหินไปจนเต็มเหมือนใบแรก แต่คราวนี้เราเททรายละเอียดลงไป ทรายก็จะทำงานคล้าย ๆ น้ำ ด้วยความที่เป็นอณูที่มีความละเอียดก็จะค่อย ๆ ไหลไปเติมเต็มช่องว่างระหว่างก้อนหิน แต่เม็ดทรายเองก็ยังมีช่องว่างยิบ ๆ ย่อย ๆ ระหว่างเม็ดทรายด้วยกันเองอยู่ดี งั้นขั้นตอนต่อไปเราเทโคลนตามลงไปอีก โคลนนี่มีอณูที่เล็กกว่าทรายอีก ก็จะสามารถไหลไปเติมเต็มช่องว่างระหว่างเม็ดทรายได้ ขั้นตอนสุดท้าย วูบอกว่าให้เราเติมดินเหนียวลงไป ดินเหนียวนี่จะทำหน้าที่คล้ายกาวสมานแต่ละวัตถุเข้าหากัน และความหนาแน่นของดินเหนียวนี่ล่ะ ที่น้ำแทบจะไม่สามารถซึมผ่านไปได้ ถึงตรงนี้ การรวมตัวกันของวัตถุเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ได้คล้าย ๆ กับพื้นผิวด้านล่างของแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้วล่ะ
“มันต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ๆ กว่าที่พื้นผิวก้นสระจะแปรสภาพตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ ต้องเกิดจากที่วัตถุต่าง ๆ แปรเปลี่ยนสภาพตัวเองจากชิ้นใหญ่กลายเป็นอนุภาคเล็ก ๆ หรือกลายเป็นตะกอน แล้วก็ค่อย ๆ ไหลรวมไปเติมเต็มช่องเล็กช่องน้อยต่าง ๆ ของก้นสระ”
เมื่อวันเวลาเดินหน้าไป และมีองค์ประกอบต่าง ๆ ช่วยเสริมทั้งน้ำ ลม แรงดึงดูด สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็ช่วยทำให้ก้อนหิน ก้อนกรวดต่าง ๆ ที่ก้นสระแตกตัวกลายเป็นอนุภาคเล็กลงเล็กลงเรื่อย ๆ แล้วก็จมลึกลงไปสู่ก้นสระ แล้วเวลาที่โลกเราเกิดพายุฝน น้ำแข็งละลาย อุทกภัย น้ำที่ไหลบ่าไปบนผิวโลกก็จะพัดพาเอาตะกอนเล็ก ๆ เหล่านี้ไหลลงตามแหล่งน้ำต่าง ๆ แล้วสุดท้ายก็จะจมลงสู่พื้นผิวเบื้องล่างของแหล่งน้ำเหล่านั้น แล้วทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นผิวที่มีความเหนียวแน่นสูง สามารถกักเก็บน้ำไม่ให้ซึมลงสู่ผิวโลกเบื้องล่างได้
ต่อให้พื้นผิวด้านล่างแหล่งน้ำจะเหนียวแน่นเพียงใด ก็ยังต้องมีน้ำบางส่วนไหลซึมเล็ดลอดลงสู่พื้นผิวเบื้องล่างไปได้บ้างอยู่ดีแต่ก็เป็นส่วนน้อย และบางส่วนก็ระเหยไปกับพื้นผิวเบื้องบน
“แต่ในที่สุด น้ำบางส่วนก็จะหายไปทั้งจากด้านบนและด้านล่างของแหล่งน้ำ”
โจน วู กล่าวสรุป