หัวใจ นับว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญที่สุดในร่างกายคนเรา นอกจากทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายเราแล้ว หัวใจยังนับว่าเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษอย่างหนึ่ง นั่นก็คือหัวใจเป็นอวัยวะภายในแต่ก็ยังเป็นศูนย์รวมความรู้สึกต่าง ๆ ได้ด้วย เคยลองคิดไหมครับ เรามีอวัยวะอยู่ภายในร่างกายมากมาย แต่เราไม่ได้รู้สึกถึงการมีอยู่ของอวัยวะเหล่านั้นเลยไม่ว่าจะเป็น ปอด ลำไส้ ไต ตับ แต่เมื่อใดที่เราเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงที่มีผลต่อจิตใจเมื่อใด เราจะรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นได้ที่หัวใจ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกรัก ก็ทำให้หัวใจเต้นตึกตักได้ ด้วยเหตุนี้หัวใจจึงเป็นสัญลักษณ์ของความรักนั่นเอง หัวใจยังตอบสนองต่อความรู้สึกรุนแรงต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น ตกใจ ใจหายวาบ ปวดร้าวใจ ดีใจ หรือ เสียใจ สังเกตได้เลยว่าทุกความรู้สึกนั้นจะมีคำว่า “ใจ” ร่วมอยู่ด้วยเสมอ เพราะเราจะสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้ได้ที่หัวใจเป็นอันดับแรก แต่นั่นสิ ทำไมความรู้สึกเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นกับหัวใจด้วยล่ะ

โรเบิร์ต เอเมรี (Robert Emery) และ จิม โคน (Jim Coan)

เอาจริง ๆ แล้ว ก็มีคนสนใจใคร่รู้ในเรื่องนี้มากมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในเรื่องนี้ก็ยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ โรเบิร์ต เอเมรี (Robert Emery) และ จิม โคน (Jim Coan) ทั้งคู่เป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัย เวอร์จิเนีย ทั้งคู่ได้อธิบายเท่าที่พอจะตอบได้ว่า อันดับแรกต้องย้อนไปที่ anterior cingulate cortex หรือ ส่วนหน้าของเปลือกสมอง พื้นที่ส่วนนี้ในสมองของเรานั้นทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึก anterior cingulate cortex จะทำงานหนักเมื่อเราอยู่ในภาวะตึงเครียด เริ่มจากการไปกระตุ้นการทำงานของ Vagus Nerve หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เส้นประสาทส่วนนี้ล่ะที่เชื่อมโยงกับหัวใจและท้องน้อย ถ้าเมื่อใดที่เรารู้สึก เจ็บปวดใจ หรือ ปวดมวนท้อง นั่นก็เพราะการทำงานของระบบภายในร่างกายเราส่วนนี้นี่แหละ

แล้วอารมณ์อย่างไหนล่ะ ที่จะส่งผลต่อไปยังความรู้สึกที่หัวใจ เคยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในปี 2013 โดยทีมนักวิจัยในมหาวิทยาลัยอลาโต, มหาวิทยาลัยเทอร์คู และมหาวิทยาลัยทามเปเร ในฟินแลนด์ พวกเขาได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 700 คน ให้แต่ละคนได้เผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วบอกกับนักวิจัยว่า ในแต่ละอารมณ์ที่เขารู้สึกนั้น เขามีความรู้สึกเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของร่างกาย โดยนักวิจัยได้จำแนกอาสาสมัครออกเป็นกลุ่มตามแต่ละอารมณ์ความรู้สึกเช่น โกรธ วิตกกังวล หวาดกลัว ซึ่งอารมณ์เหล่านี้นั้น อาสาสมัครบอกว่าพวกเขารู้สึกภายในทรวงอก แต่อารมณ์อื่น ๆ เช่น มีความสุข มีความรัก นั้น พวกเขารู้สึกได้ทั่วทั้งตัวเลย

นักวิจัยได้วิเคราะห์และพยายามอธิบายถึงเหตุผลที่ร่างกายเรามีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์เหล่านี้ เช่น หัวใจเต้นแรง รู้สึกบีบรัดที่หัวใจ นั่นก็เพราะเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเราเองที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์รอบตัวในขณะนั้น อย่างเช่นเราอยู่ในภาวะหัวร้อนสุด ๆ กำลังจะมีเรื่อง ร่างกายเราก็จะปรับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือระบบประสาท แต่ถึงขณะนี้ บรรดานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงโต้แย้งกันในเรื่องนี้อยู่ว่า ที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานภายในร่างกายเรานั้นแตกต่างกันไปตามแต่สภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งการให้คำตอบที่แน่ชัดในเรื่องนี้ยังคงต้องศึกษากันต่อไป โดยจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เช่นความดันโลหิตที่เปลี่ยนไปในแต่ละสภาวะอารมณ์

ที่มา