วันเว็บ (OneWeb) บริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบรอดแบนด์ที่เป็นของรัฐบาลอังกฤษและ Bharti Global ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของอินเดีย จะปล่อยดาวเทียมที่ผลิตจากโรงงานในรัฐฟลอริดาประเทศสหรัฐอเมริกาชุดที่ 14 จำนวน 36 ดวง ด้วยจรวด GSLV Mk.3 (หรือเรียกว่า LVM-3) ที่พัฒนาโดยองค์กรวิจัยอวกาศอินเดีย จากศูนย์อวกาศสาทิศ ธาวัน (Satish Dhawan Space Centre) บนเกาะศรีหริโกฎา ประเทศอินเดีย ในวันที่ 23 ตุลาคม เวลา 12:07am IST (01.37 น. ในประเทศไทย)
ภารกิจนี้เป็นการส่งดาวเทียม 36 ดวงไปยังวงโคจรวงโคจรต่ำของโลก ซึ่งจะทำให้วันเว็บมีดาวเทียมอยู่ในวงโคจรรวมเป็น 462 ดวง หรือกว่า 70% จากเป้าหมาย 648 ดวงเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมที่มีความหน่วงแฝงต่ำครอบคลุมทั่วโลกในปี 2023 ปัจจุบันดาวเทียมวันเว็บได้ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของละติจูด 50 องศา ตั้งแต่อังกฤษไปจนถึงอลาสก้า ยุโรปทางตอนเหนือ กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ ทะเลอาร์กติก และแคนาดา หรือโซนขั้วโลกเหนือ
วันเว็บเป็นบริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมที่เป็นคู่แข่งกับสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งปล่อยดาวเทียมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม ซึ่งตั้งใจว่าจะปล่อยดาวเทียมอย่างต่อเนื่องทุกเดือน แต่ต่อมาบริษัทได้ล้มละลาย และเดือนกรกฎาคม 2020 ได้ถูกประมูลซื้อบริษัทโดยรัฐบาลอังกฤษ และ Bharti Global จากนั้นก็ได้กลับมาปล่อยดาวเทียมอีก 36 ดวงเมื่อเดือนธันวาคม 2020 ด้วยจรวด Soyuz-2-1b ของรัสเซีย ที่ท่าอวกาศยาน Vostochny Cosmodrome ในรัสเซีย
วันเว็บใช้บริการปล่อยดาวเทียมด้วยจรวด Soyuz-2-1b ของรัสเซียมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รัสเซียได้ยกทัพบุกยูเครนและอังกฤษได้ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก จากนั้นรัสเซียประกาศจะไม่ปล่อยดาวเทียมให้กับวันเว็บอีกเว้นแต่อังกฤษจะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท และบริษัทรับรองว่าจะไม่นำดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ในทางทหาร สุดท้ายวันเว็บได้ลงมติระงับการปล่อยดาวเทียมทั้งหมดด้วยจรวดโซยุซของรัสเซีย
ต่อมาวันเว็บได้ตัดสินใจเลือกใช้บริการจรวด Falcon 9 ของสเปซเอ็กซ์ที่เป็นคู่แข่งจำนวน 3 เที่ยวบิน ซึ่งจะเริ่มภารกิจในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้า นอกจากนี้ยังตกลงใช้จรวด GSLV Mk.3 ของอินเดียจำนวน 2 เที่ยวบิน ซึ่งจะเริ่มเที่ยวบินแรกในภารกิจนี้คือครั้งที่ 14
ที่มา : oneweb และ spaceflightnow
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส