ดาวเทียม CAPSTONE ของนาซา (NASA) จะเริ่มเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน ในเวลา 4:18 p.m. PT (วันจันทร์ เวลา 8:18 น. ในประเทศไทย) ซึ่งระบบขับเคลื่อนจะนำส่งดาวเทียมด้วยความเร็ว 3,800 ไมล์ต่อชั่วโมง (6,116 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ไปยังเส้นทางการโคจรพิเศษเพื่อช่วยให้ดาวเทียมสามารถโคจรรอบดวงจันทร์ในเส้นทางที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดโดยอาศัยแรงดึงดูดของดวงจันทร์และโลก ต่อจากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการปรับแต่งเส้นทางต่อไป
CAPSTONE (the Cislunar Autonomous Positioning System Technology Operations and Navigation Experiment) เป็นดาวเทียมขนาดเล็กหนัก 55 ปอนด์ (25 ก.ก.) ผลิตโดยแอดวานซ์สเปซ (Advanced Space) มีหน้าที่ออกไปเป็นแนวหน้าให้กับโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ของนาซาในการตรวจสอบวงโคจรของดวงจันทร์ในแนววงรี ตรวจสอบความถูกต้องของเทคโนโลยีการนำทาง และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของวงโคจร เพื่อช่วยสนับสนุนสถานีอวกาศเกตเวย์ให้สามารถโคจรรอบดวงจันทร์และยานอวกาศสามารถไปทำภารกิจที่ดวงจันทร์ในอนาคตได้อย่างปลอดภัย
28 มิถุนายน จรวด Electron ของ Rocket Lab ได้ปล่อยดาวเทียม CAPSTONE ไปสู่อวกาศ ต่อมา 5 กรกฎาคม พบปัญหาด้านการสื่อสารไม่สามารถติดต่อดาวเทียมได้ จากนั้น 6 กรกฎาคม แอดวานซ์สเปซสามารถติดต่อกับดาวเทียม CAPSTONE ได้อีกครั้ง ต่อมาเดือนกันยายน ดาวเทียม CAPSTONE มีความผิดปกติอยู่ในสถานะ Safe mode และหลุดออกจากการควบคุมไปชั่วขณะ จากนั้นทีมงานสามารถแก้ไขให้เดินทางตามเส้นทางสู่ดวงจันทร์ต่อไปได้
ต่อจากนี้เมื่อดาวเทียม CAPSTONE เข้าสู่วงโคจรแล้ว จะมีการยิงเครื่องขับดันทุก 6 วันครึ่งเพื่อรักษาเส้นทางให้อยู่ในวงโคจรอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้เพื่อนำมาใช้กับสถานีอวกาศเกตเวย์และยานอวกาศอื่น ๆ ให้รักษาเส้นทางอยู่ในวงโคจรเป็นเวลาหลายปีได้
ที่มา : cnet.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส