อ้างอิงจากผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร ACS Food Science & Technology ระบุว่า เทคโนโลยีการใช้รังสีอินฟราเรดเพื่ออบป๊อปคอร์นเป็นวิธีการใหม่ที่ยังคงความอร่อยของป๊อปคอร์นไว้ได้แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าการเวฟในไมโครเวฟหรือแม้แต่เครื่องทำป๊อปคอร์น (Air popper)
วิธีการทำอาหารด้วยรังสีอินฟราเรดไม่ใช่นวัตกรรมใหม่แต่อย่างใด เพราะมีผู้ใช้วิธีดังกล่าวในการให้ความร้อนแก่อาหารโดยการฉายรังสีอินฟราเรดไปที่วัตถุให้ความร้อน เช่น แก้วหรือเซรามิก และมีเตาอินฟราเรดที่สามารถย่างเนื้อได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเตาทั่วไป แต่การประยุกต์นำรังสีอินฟราเรดมาปรับใช้กับป๊อปคอร์นยังเป็นเรื่องที่เราเคยพบเห็น
ป๊อปคอร์นทำจากการให้ความร้อนแก่เมล็ดข้าวโพด ซึ่งความร้อนจะเข้าไปทำให้น้ำในเมล็ดข้าวโพดระเหยเป็นไอ ส่งผลให้ความดันในเมล็ดข้าวโพดเพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งความดันที่มากเกินไปจะทำให้เปลือกข้าวโพดแตกกระจายออก จากนั้นเนื้อที่ประกอบด้วยแป้งและโปรตีนภายในเมล็ดที่แตกออกมาสู่ด้านนอกก็จะเมื่อสัมผัสกับอากาศและเย็นตัวลงจนมีลักษณะคล้ายโฟมแบบที่เราเห็นกัน
จุดที่ยากของการทำป๊อปคอร์นคือการใช้ความร้อนในระดับที่พอดี และให้ความร้อนกับมันไม่เร็วไม่ช้าเกินไป ซึ่งนักวิจัยจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอิหร่าน (IROST) ได้ทดลองวิธีการฉายรังสีอินฟราเรดเพื่อหาคำตอบว่าวิธีการดังกล่าวจะสามารถให้ความร้อนที่พอดีกับการทำป๊อปคอร์นโดยยังคงรสชาติที่ดีไว้ได้อยู่หรือไม่
จากการทดสอบพบว่า เมื่อใช้กำลังไฟในระดับ 500 วัตต์จะทำให้เมล็ดข้าวโพดกลายเป็นป๊อปคอร์นได้สำเร็จ และการใช้กำลังไฟที่ระดับ 800 วัตต์ให้ปริมาณป๊อปคอร์นมากที่สุด แต่หากคำนึงถึงความอร่อยของป๊อปคอร์นด้วย พวกเขาพบว่าจุดที่ดีที่สุดคือ 700 วัตต์
เมื่อเทียบกับไมโครเวฟที่ใช้กำลังไฟอยู่ที่ประมาณ 1,000 วัตต์ หรือเครื่องทำป๊อปคอร์นที่ใช้กำลังไฟ 1,400 วัตต์ก็จะเห็นว่า วิธีการใช้รังสีอินฟราเรดช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า และไม่ทำให้ความอร่อยของป๊อปคอร์นลดน้อยลง!
ที่มา: Techspot
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส