หลังจากช่วงปลายปี 2021 ที่ NASA ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ออกเดินทางไกลจากโลกกว่า 1.5 ล้านกิโลเมตร เพื่อทำภารกิจถ่ายภาพในห้วงอวกาศ ก็มีการเผยภาพออกมาเรื่อย ๆ เช่น ภาพเนบิวลาทารันทูลา ภาพส่วนลึกที่สุดของจักรวาลที่เคยถ่ายได้ และดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นต้น
ล่าสุดทางองค์การด้านอวกาศอย่าง NASA, ESA และ CSA ออกมาเผยว่ากล้อง เจมส์ เวบบ์ สามารถถ่ายดวงดาวที่มีขนาดความใหญ่ใกล้เคียงกับโลกได้เป็นครั้งแรก (ของกล้องตัวนี้) โดยชื่อดาวคือ LHS 475 b ดาวเคราะห์หิน (Rocky planet) หรือดาวเคราะห์มีพื้นผิวเป็นของแข็งและโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายโลก ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวออกแทนต์ (Octans) อยู่ห่างจากโลก 41 ปีแสง
ทีมนักวิจัยยืนยันว่า LHS 475 b มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใกล้เคียงกับโลกถึง 99% (เล็กกว่าโลกนิดเดียว) แต่จะมีอุณหภูมิที่ร้อนกว่าโลก 2-3 ร้อยองศา โดยการโคจรนั้นจะหมุนรอบดาวฤกษ์ขนาดเล็ก อย่าง ดาวแคระแดง (Red dwarf) ซึ่งใช้เวลาต่อรอบคือ 2 วัน (เร็วกว่าดาวทุกดวงในระบบสุริยะ) ส่วนดาวดวงนี้จะมีชั้นบรรยากาศหรือไม่ ตอนนี้ทางทีมวิจัยยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดเพราะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงฤดูร้อน
“ผลจากการสำรวจพบดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกในครั้งนี้ จะเป็นประตูที่เปิดสู่ความเป็นไปมากมายในอนาคตสำหรับการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ผ่านกล้อง เจมส์ เวบบ์” — Mark Clampin ผู้อำนวยการแผนกฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่สำนักงานใหญ่ Nasa ในวอชิงตัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส