ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจะมีการปล่อยประจุไฟฟ้าแรงดันอันมหาศาลลงมาสู่พื้นโลก ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตจำนวนมาก จึงได้มีการสร้างสายล่อฟ้าที่ติดตั้งอยู่บนเสาสูง ๆ เพื่อถ่ายประจุไฟฟ้าจากก้อนเมฆลงมาสู่พื้นดินให้เกิดความปลอดภัยมาตั้งแต่สมัยของ เบนจามิน แฟรงคลิน แต่การป้องกันแบบเดิมนี้ยังครอบคลุมพื้นที่ได้น้อย ล่าสุดนักวิจัยในยุโรปสามารถทดสอบใช้เลเซอร์พัลส์ระดับเทระวัตต์ที่ช่วยบังคับทิศทางของสายฟ้าไปยังเสาขนาด 26 ฟุต (7.92 เมตร) สามารถทะลุเมฆหมอกและครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขึ้นถึง 590 ฟุต (180 เมตร)
เลเซอร์พัลส์ที่ยิงออกไปจะทำให้โมเลกุลของไนโตรเจนและออกซิเจนแตกตัวเกิดเป็นไอออนแล้วก็ปล่อยอิเล็กตรอนออกมาและสร้างพลาสมาที่สามารถเหนี่ยวนำไฟฟ้า ทั้งนี้การยิงเลเซอร์พัลส์ด้วยความเร็ว 1,000 พัลส์/วินาที จะมีโอกาสช่วยสกัดกั้นการก่อตัวของสายฟ้าได้มากขึ้น ซึ่งจากการทดสอบในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน 2021 พบว่าสายฟ้าในพื้นที่เกือบ 197 ฟุต (60 เมตร) ได้ถูกเหนี่ยวนำให้ไปตามลำแสงของเลเซอร์ก่อนที่จะผ่าลงมาบนเสา
นักวิจัยเผยว่าได้ทำการทดลองการล่อสายฟ้าด้วยเลเซอร์มานานหลายปี ซึ่งได้ใช้พัลส์ที่ค่อนข้างช้า จึงได้ผลในพื้นที่ที่สั้นกว่ามาก แต่การทดสอบครั้งล่าสุดได้ยิงเลเซอร์พัลส์ที่เร็วสูงขึ้นถึง 100 เท่า และมีมูลค่าในการทดลองประมาณ 2,170 ล้านเหรียญ (71,881 ล้านบาท) ทั้งนี้พบว่าการใช้เสายาว 33 ฟุต (10 เมตร) จะครอบคลุมพื้นที่สายฟ้าได้ถึง 1,640 ฟุต (500 เมตร)
อนาคตคาดว่าเมื่อการทดลองใช้เลเซอร์พัลส์สำเร็จจะสามารถช่วยสร้างระบบป้องกันฟ้าผ่าที่ครออบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการป้องกันฟ้าผ่าให้กับฐานยิงจรวด เนื่องจากจะทำให้เที่ยวบินล่าช้าและทีมงานต้องเคลื่อนย้ายจรวดอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฟ้าผ่าในพื้นที่สนามบิน โรงไฟฟ้า หรือโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ
ที่มา : engadget
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส