23 มกราคม สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เผยว่าได้เสร็จสิ้นการทดสอบสำคัญที่เรียกว่า “wet dress rehearsal” ในการโหลดเชื้อเพลิงที่เย็นจัดอย่างเต็มที่มากกว่า 10 ล้านปอนด์ (4.5 ล้านกิโลกรัม) ให้แก่ต้นแบบ Starship 24 ที่วางซ้อนอยู่บนต้นแบบจรวด Super Heavy booster 7 ประกอบรวมร่างเข้าด้วยกันอย่างเต็มรูปแบบ ณ โรงงานสตาร์เบส (Starbase) ในเท็กซัส เพื่อเตรียมความพร้อมในการทดสอบบินไปตามวิถีวงโคจรสู่อวกาศครั้งแรก
Wet dress rehearsal คือ การทดสอบบรรจุเชื้อเพลิงที่เย็นจัด (ออกซิเจนเหลวและมีเทน) เข้าไปในถังของบูสเตอร์และยานสตาร์ชิปที่ประกอบรวมร่างเหมือนตอนปล่อยยาน พร้อมด้วยการจำลองนับถอยหลังโดยไม่มีการจุดระเบิดเครื่องยนต์ของยาน ซึ่งเป็นการทดสอบที่สำคัญก่อนที่จะปล่อยยาน
สเปซเอ็กซ์เหลือการทดสอบสตาร์ชิปอีกไม่กี่ขั้นตอนก่อนที่จะปล่อยสู่อวกาศ ซึ่งครั้งต่อไปในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้จะเป็นการทดสอบ (Static-fire tes) คือการทดสอบจุดระเบิดเครื่องยนต์ Raptor จำนวน 33 ตัว บน Booster 7 ขณะที่ถูกยึดอยู่กับที่ เมื่อสำเร็จก็น่าจะมาพร้อมกับใบอนุญาตการปล่อยภารกิจสู่อวกาศจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งให้สเปซเอ็กซ์ดำเนินการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 75 รายการ
เมื่อ 8 มกราคม อีลอน มัสก์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์เผยว่าจะปล่อยสตาร์ชิปอย่างเร็วที่สุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่กว่าจะผ่านการทดสอบมีแนวโน้มว่าจะเป็นเดือนมีนาคม
สตาร์ชิปเป็นระบบขนส่งอวกาศขนาดใหญ่ ซึ่งถูกเลือกให้ร่วมอยู่ในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ของนาซาสำหรับส่งมนุษย์อวกาศกลับไปเหยียบบนดวงจันทร์ ซึ่งในภารกิจ Artemis III นาซาจะปล่อยจรวด SLS ขับเคลื่อนยาน Orion นำ 4 นักบินอวกาศไปจอดเทียบท่าบนสถานีเกตเวย์ที่โคจรรอบดวงจันทร์ และยานสตาร์ชิปจะรับหน้าที่พานักบินอวกาศลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ด้วยสัญญามูลค่าเกือบ 3,000 ล้านเหรียญ (98,520 ล้านบาท) และนาซายังได้เลือกให้สตาร์ชิปขนส่งนักบินอวกาศชุดที่ 2 ลงไปเหยียบบนดวงจันทร์ในปี 2027 ภายใต้ภารกิจ Artemis IV
นอกจากนี้สตาร์ชิปจะถูกใช้สำหรับขนส่งสัมภาระและเครื่องมือต่าง ๆ ในการขึ้นไปตั้งฐานบนดวงจันทร์เพื่อจะบินต่อไปยังดาวอังคาร อีกทั้งยังเป็นความหวังของสเปซเอ็กซ์ในการใช้สตาร์ชิปปล่อยดาวเทียม Starlik V.2 ที่ติดตั้งอุปกรณ์ให้สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง มีความยาว 7 เมตร น้ำหนัก 1.25 ตัน จำนวนบิตของข้อมูลดีกว่าในดาวเทียม Starlink V.1 เป็นสิบเท่า แต่ไม่สามารถขนส่งด้วยจรวด Falcon 9 ได้ ซึ่งต้องใช้สตาร์ชิปเท่านั้น และตอนนี้ได้รับอนุมัติจาก กสทช. สหรัฐฯ (FCC) ให้สามารถปล่อยดาวเทียม Starlink V. 2 จำนวน 7,500 ดวง
ที่มา : cnbc
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส