สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานการเปิดตัวนักบินอวกาศ 4 คน สำหรับภารกิจ “อาร์ทิมิส ทู” ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เมื่อวันที่ 4 เมษายน ซึ่งจะเป็นการส่งมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง นับตั้งแต่โครงการอะพอลโล 17 เมื่อปี 2515 โดยนักบินอวกาศทั้ง 4 คน จะมีภารกิจที่ต่างกัน เริ่มจาก
ผู้บัญชาการภารกิจ Artemis II
รีด ไวซ์แมน (Reid Wiseman) อายุ 47 ปี ชาวเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ หนึ่งในนักบินอวกาศมากประสบการณ์ของนาซา ไวซ์แมนได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศของ NASA เป็นครั้งแรกในปี 2009 ก่อนหน้านี้เขาเคยเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว 1 ครั้งใช้เวลา 165 วัน และเคยปล่อยจรวด Soyuz ของรัสเซียในปี 2014 ล่าสุดไวซ์แมนดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานนักบินอวกาศก่อนจะลงจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2022 ทำให้เขามีสิทธิ์ได้รับการมอบหมายการบิน
ชาวแคนาเดียนคนแรกที่ได้เดินทางไปยังอวกาศ
เจเรมี แฮนเซน (Jeremy Hansen) วัย 47 ปี นักบินขับไล่ที่ได้รับเลือกจากองค์การอวกาศแคนาดาสำหรับการฝึกนักบินอวกาศในปี 2552 จากลอนดอน ออนแทรีโอ และล่าสุดเขาเพิ่งกลายเป็นชาวแคนาเดียนคนแรกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล การฝึกอบรมสำหรับนักบินอวกาศรุ่นใหม่ของ NASA และครั้งนี้ เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับแคนาดาอีกครั้ง โดยการได้รับเลือกให้เข้าร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของ NASA
ลูกเรือชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันคนแรก
วิกเตอร์ โกลเวอร์(Victor Glover) วัย 46 ปี นักบินนาวิกโยธินที่กลับสู่โลกจากการบินในอวกาศครั้งแรกในปี 2021 หลังจากขับยานอวกาศ Crew Dragon ของ SpaceX ในเที่ยวบินที่ 2 เขาใช้เวลาเกือบ 6 เดือนอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ
“มันมากกว่า 4 ชื่อที่ได้รับการประกาศมาก เราต้องเฉลิมฉลองช่วงเวลานี้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ … นี่คือก้าวต่อไปของการเดินทางที่จะพามนุษยชาติไปสู่ดาวอังคาร” โกลเวอร์กล่าวระหว่างการเปิดตัวที่ NASA Johnson Space Center ในฮูสตัน
นักบินที่อยู่บนอวกาศนานที่สุดของ NASA
คริสตินา ค็อก (Christina Koch) วัย 44 ปี ชาวเมืองแกรนด์แรพิดส์ รัฐมิชิแกน ค็อกเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่ช่วยพัฒนาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สำหรับภารกิจต่างๆ ของ NASA เธอยังเป็นผู้คร่ำหวอดในการเดินอวกาศมาแล้ว 6 ครั้ง แถมเป็นเจ้าของสถิตินักบินอวกาศปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศ สะสมระยะเวลาต่อเนื่องนานที่สุดของ NASA โดยใช้เวลาทั้งหมด 328 วันในอวกาศ และเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมลูกเรือหญิงล้วน 3 คนชุดแรกของ NASA ในการปฏิบัติภารกิจเดินอวกาศ
NASA กำหนดเป้าหมายของภารกิจArtemis II ไว้ที่ 10 วัน รวมการเดินทางไปและกลับ โดยยานสำรวจจะนำลูกเรือทั้ง 4 คนเดินทางผ่าน “ด้านไกลที่สุดของดวงจันทร์” คือจุดไกลที่สุดในวงโคจร ระหว่าง โลกกับดวงจันทร์ด้วยส่วนภารกิจอาร์ทิมิส วัน เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เป็นการส่งจรวดขนาดยักษ์ “สเปซ ลอนช์ ซิสเต็ม” ( Space Launch System) หรือ “เอสแอลเอส” เดินทางไปยังดวงจันทร์ เพื่อปล่อยยานแคปซูลไร้คนขับ “โอไรออน” ( Orion) เพื่อทดสอบการโคจรรอบดวงจันทร์นาน 25 วัน ซึ่งนาซาศึกษาการทำงานของระบบป้องกันความร้อนระหว่างเสียดสีกับบรรยากาศโลกของตัวยาน เพื่อนำไปพัฒนาสำหรับภารกิจอาร์ทิมิส ทรี (Artemis III) ที่จะเกิดขึ้นภายในช่วงปลายปี 2567 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นปี 2568
ที่มา : CNN
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส