วันจันทร์ที่ 17 เมษายน เวลา 08.20 น. (20.20 น. ในประเทศไทย) สเปซเอ็กซ์ได้เริ่มต้นทำภารกิจปล่อยสตาร์ชิป (Starship) ไปยังอวกาศครั้งแรก ซึ่งก่อนการนับถอยหลังปล่อยจรวด 1 ชั่วโมง ทีมงานได้โหลดเชื้อเพลิงจรวดที่เย็นจัด จากนั้นตรวจพบว่าที่วาล์วแรงดันมีปัญหาเกิดการแข็งตัว จึงได้ประกาศเลื่อนภารกิจไปเป็นวันที่ 20 เมษายน เวลา 8:28 a.m. CT (20.28 น. ในประเทศไทย)
สเปซเอ็กซ์เตรียมพร้อมที่จะปล่อยภารกิจทดสอบบินสตาร์ชิปตั้งแต่ 10 เมษายน แต่เนื่องจากติดปัญหาไม่ได้รับอนุมัติใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม จนทำให้ต้องเลื่อนภารกิจไปเป็น 17 เมษายน และปลายเดือนเมษายน
14 เมษายน สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้อนุมัติใบอนุญาตด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้สเปซเอ็กซ์สามารถทดสอบบินสตาร์ชิปได้ ซึ่งใบอนุญาตมีอายุนานถึง 5 ปี และสเปซเอ็กซ์ได้ขยับภารกิจกลับมาเป็น 17 เมษายน
สตาร์ชิปเป็นระบบขนส่งอวกาศแบบนำกลับมาใช้ใหม่ที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วย จรวด Super Heavy ทำหน้าที่เป็นบูสเตอร์หรือส่วนขับดัน และ Starship เป็นตัวยานที่ใช้สำหรับบรรทุกน้ำหนักขนส่งอุปกรณ์ เครื่องมือ ดาวเทียมและผู้โดยสารจำนวนมากไปสู่อวกาศ ซึ่งจะใช้เป็นยานลงจอดนำนักบินอวกาศกลับไปเหยียบพื้นดวงจันทร์ในโครงการอาร์เทมิสของนาซา การขนส่งอุปกรณ์และทีมงานเพื่อตั้งฐานอวกาศบนดวงจันทร์สู่การเดินทางต่อไปยังดาวอังคาร และจะใช้ในการปล่อยดาวเทียม Starlink V.2 ของสเปซเอ็กซ์
สเปซเอ็กซ์ได้ทำการบินทดสอบยานสตาร์ชิปมาแล้วหลายครั้งทั้งการบินระดับต่ำและระดับสูง ซึ่งยานสตาร์ชิปสามารถบินกลับมาลงจอดในแนวตั้งได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ในส่วนของจรวด Super Heavy ก็ได้ผ่านการทดสอบสตาร์ตเครื่องยนต์ Raptor จำนวน 31 ตัว ที่ถูกยึดอยู่กับที่อย่างเต็มรูปแบบ และพร้อมที่จะทดสอบบินไปสู่อวกาศ
ที่มา : twitter และ spacex.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส