27 เมษายน นาซาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่ารัสเซียได้ตกลงอย่างเป็นทางการที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2028 ในขณะที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และองค์การอวกาศยุโรปยืนยันจับมือกันอย่างเหนียวแน่นร่วมสนับสนุน ISS ไปจนถึงปี 2030 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีที่รัสเซียไม่แยกออกไปตามที่ ยูริ โบริซอฟ (Yuri Borisov) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศรัสเซีย (รอสคอสมอส) ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่ารัสเซียกำลังจะถอนตัวออกจาก ISS หลังจากปี 2024 เพื่อสร้างสถานีอวกาศของตนเอง
เดือนเมษายน 2022 ดมิทรี โรโกซิน (Dmitry Rogozin) ผู้อำนวยการรอสคอสมอสในขณะนั้นขู่ว่ารัสเซียจะออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ หลังจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเหตุส่งกำลังทหารบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ และก่อนหน้านั้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ โรโกซินได้ทวีตถึงการคว่ำบาตรอาจจะส่งผลกระทบต่อ ISS ตกลงสู่พื้นโลก
เดือนกรกฎาคม ยูริ โบริซอฟ อำนวยการปัจจุบันของรอสคอสมอสประกาศว่ารัสเซียจะถอนตัวออกจาก ISS หลังปี 2024 โดยจะออกมาสร้างสถานีอวกาศของตัวเองเพื่อให้บริการด้านอวกาศต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และเดือนสิงหาคม รอสคอสมอสได้แสดงแบบจำลองสถานีอวกาศแห่งใหม่มีชื่อว่า ROSS ซึ่งการติดตั้งเฟสแรกในช่วงปี 2025 – 2030 และเฟสที่ 2 ระหว่างปี 2030 – 2035
ก่อนหน้ารัสเซียยกพลบุกถล่มยูเครน สหรัฐฯ ได้เตรียมพร้อมไว้เบื้องต้นแล้วว่าหากรัสเซียถอนตัวออกจาก ISS นาซาภายใต้รัฐบาลสหรัฐฯ จะดึงนักบินอวกาศออกจาก ISS โดยทันที และจะยังคงให้ ISS ทำงานต่อไปแม้ว่ารัสเซียจะดึงโมดูลส่วนขับดันในการรักษาวงโคจรออกไป
มีรายงานว่าสหรัฐฯ ได้เรียกให้บริษัทอวกาศของเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งบริษัทโบอิ้งได้ตั้งทีมวิศกรเข้ามาหาวิธีควบคุม ISS เมื่อโมดูลขับดันของรัสเซียถูกถอดออกไป ดังนั้นคาดว่าหลังจากรัสเซียถอนตัวในปี 2028 สหรัฐฯ อาจต้องใช้บริการของบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ ISS อยู่ต่อไปได้จนถึงปี 2030 ซึ่งยังมีเวลาพอให้เตรียมตัวอีก 5 ปี
อย่างไรก็ตาม รัสเซียไม่ได้เผยว่าจะพักการสร้างสถานีอวกาศ ROSS เอาไว้ก่อนหรือไม่ เพราะการทำสงครามอาจจะสูญเสียเงินไปเยอะ หรือไม่ก็ช่วงก่อนถอนตัวในปี 2028 รัสเซียอาจเดินหน้าติดตั้ง ROSS ในเฟสแรก ส่วนสหรัฐฯ และพันธมิตรขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสร้างสถานีอวกาศเกตเวย์โคจรรอบดวงจันทร์เพื่อเตรียมพร้อมสู่การไปตั้งฐานบนดวงจันทร์และขยายการสำรวจไปยังดาวอังคาร จึงไม่ชัดเจนว่าหลังจากปี 2030 ทิศทางของ ISS จะเป็นอย่างไร
ที่มา : engadget.com และ nasa.gov
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส