โลกของเรามีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ หรือ Smallpox เป็นวัคซีนแรกของโลกในปี 1976 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ และล่าสุดมนุษย์เกือบทุกคนต้องเคยฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่ในอนาคตโลกของเราจะมีวัคซีนรักษาโรคร้ายอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตมนุษย์นับล้านคนก็คือ วัคซีนโรคมะเร็ง
ในปัจจุบันในแต่ละประเทศทั่วโลกมีจำนวนประชากรที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้นที่รวมถึงประเทศไทยของเรา ซึ่งในทุก ๆ วันจะมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี และคนไทยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปีที่ถือว่าเยอะมาก ๆ
โดย 5 อันดับแรกโรคมะเร็งที่พบได้ในคนไทยเพศชายคือ ตับและท่อน้ำดี, ปอด, ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง, ต่อมลูกหมาก และต่อมน้ำเหลือง สำหรับ 5 อันดับแรกโรคมะเร็งที่พบได้ในคนไทยเพศหญิงคือ เต้านม, ตับและท่อน้ำดี, ปากมดลูก, ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และ ปอด
สาเหตุของโรคมะเร็งมีอยู่หลายอย่าง แต่สาเหตุหลัก ๆ คือ การกลายพันธุ์ของพันธุกรรมที่เนื้องอกมักเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ไม่รับรู้ว่าเนื้องอกนี้เป็นภัยคุกคาม และไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ตามธรรมชาติ
ซึ่งวัคซีนโรคมะเร็งไม่เหมือนกับวัคซีนป้องกันโรคทั่วไป และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง แต่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งในแผนปัจจุบันเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ต่อสู้กับโรคมะเร็งได้
ราวี มาเจติ (Ravi Majeti) ผู้อำนวยการสถาบัน Standford Institute of Cell Biology and Regenerative แห่ง Stanford School of Medicine ได้กล่าวไว้ว่า “วัคซีนเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง แต่ทำมาเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับวัคซีนมีการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและต่อสู้กับปฏิกิริยาต่อต้านมะเร็งได้มากยิ่งขึ้น”
งานวิจัยวัคซีนโรคมะเร็งของ Moderna เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารพันธุกรรม mRNA เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างแอนติบอดี และเปลี่ยนเซลล์ภูมิคุ้มกันให้เป็นโปรตีนที่คล้ายกับเนื้องอก นอกจากนี้ก็สั่งการให้ระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีนชนิดเดียวกันออกไป
บริษัทที่มีงานวิจัยคล้าย ๆ กันอย่าง BioNTech ก็เคยทดลองวัคซีนมะเร็งตับอ่อนที่ใช้หลักการ mRNA เดียวกันกับ Moderna ได้รายงานว่า ผู้ป่วยที่ได้ฉีดวัคซีนครึ่งหนึ่งมีการตอบสนองระบบภูมิคุ้มกัน และไม่มีอาการกำเริบในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังพบว่ามีผลลัพธ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น
ที่มา : สำนักงานปลัดสาธารณสุข, Inverse
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส