องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) จะปล่อยภารกิจ IRNSS-1J ในการขนส่งดาวเทียมระบบนำทางภูมิภาคอินเดีย NVS-01 ไปสู่อวกาศด้วยจรวด GSLV Mk II ออกจากแท่นปล่อยจรวดที่ 2 ณ ศูนย์อวกาศสาทิศธาวัน (Satish Dhawan Space Center : SDSC) เกาะศรีหริโกตา รัฐอานธรประเทศ ในวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม เวลา 12:12 น. ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกของจรวดในตระกูล GSLV Mk I & II ในปี 2023
เดือนพฤษภาคม 2006 รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติที่จะใช้ระบบดาวเทียมนำทางภูมิภาคของอินเดีย (IRNSS) ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมระบุตำแหน่งทั่วโลกเหมือนกับ GPS ของสหรัฐฯ, GLONASS ของรัสเซีย, Galileo ของสหภาพยุโรป และ Beidou-3 ของจีน แต่จะคล้ายกับกลุ่มดาวเทียมระบุตำแหน่งระดับภูมิภาค Beidou-1 และ 2 ของจีน หรือ QZSS ของญี่ปุ่น ซึ่งมีแผนจะใช้ใน 6 – 7 ปี นับจากตอนนั้น
IRNSS ประกอบด้วย ดาวเทียมบริวาร 7 ดวง โดยมี 3 ดวงอยู่ในวงโคจรพ้องคาบโลก (GEO) ที่ตำแหน่ง 32.5°, 83° และ 131.5° ตะวันออก ส่วนอีก 4 ดวงอยู่ในวงโคจรประจำที่ตามแนวเฉียง (IGSO) ทำมุมเอียง 29° ณ เส้นลองจิจูดตัดกันที่ 55° และ 111.75° ตะวันออก
ดาวเทียมแต่ละดวงจะติดตั้งทั้งระบบนำทางและ CDMA พร้อมด้วยกระจกสะท้อนแสงเลเซอร์ ซึ่งจะสร้างสัญญาณนำทางที่ L5 และ S-band ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานเข้ากันได้กับระบบ GPS และ Galileo
เดือนมกราคม 2016 ISRO ได้ประกาศจะสร้างดาวเทียมสำรองอีก 4 ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองดวงแรกปล่อยเมื่อปลายปี 2017 เพื่อแทนที่ดาวเทียม IRNSS 1A ที่มีความล้มเหลวเกี่ยวกับนาฬิกาอะตอม ทั้งนี้การปล่อยดาวเทียม IRNSS 1H สำหรับแทนที่ดาวเทียมดวงแรกไม่สำเร็จ ต่อมาเดือนเมษายน 2018 ได้ปล่อยดาวเทียม IRNSS-1I สำเร็จและกำลังปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้
ส่วนภารกิจ IRNSS-1J จะเป็นการปล่อยดาวเทียม NVS-01 สำหรับแทนที่ดาวเทียม IRNSS-1G ซึ่งได้มีการขยายอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น มีระบบนาฬิกาพื้นเมือง และอุปกรณ์ใช้พลังงานต่ำ
ที่มา : nextspaceflight.com, space.skyrocket.de และ wikipedia.org ภาพ : wikimedia.org
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส