ในปกติแล้วการสร้างยานอวกาศ หรือดาวเทียมมักจะเลือกวัสดุโลหะในการสร้าง แต่วัสดุไม้อาจเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างเปลือกหุ้มดาวเทียม และเมื่อหมดอายุการใช้งานจะถูกเผาไหม้ไม่เป็นขยะล่องลอยในอวกาศ
นักวิจัย LignoSat จากมหาวิทยาลัยเกียวโต และ Sumitomo Forestry ได้ส่งวัสดุไม้ไปทดลองที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลารวม 290 วัน พบว่าตัวอย่างไม้ที่ได้รับรังสีตลอดเวลาไม่มีการเปลี่ยนรูปร่าง, หลุดลอก และไม่มีความเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น จากไม้ทั้งหมดไม้แมกโนเลียมีผลลัพธ์โดยรวมดีมากที่สุดทั้งความยืดหยุ่น และแรงพยุง
ไม้ชนิดนี้จะไปเป็นส่วนหนึ่งของ LignoSat ที่เป็นภารกิจร่วมระหว่าง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ในปี 2024
วัตถุประสงค์ของการทดลองในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากปัญหาที่เพิ่มขึ้นของขยะอวกาศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากเปลือกดาวเทียมที่ทำมาจากวัสดุโลหะ เมื่อดาวเทียมหมดอายุการใช้งานจะได้รับความคำสั่งให้กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อทำการเผาไหม้ อย่างไรก็ตามเปลือกดาวเทียมวัสดุโลหะไม่ได้ถูกเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ และกลายเป็นขยะอวกาศในที่สุด
ที่มา : Inverse, Kyoto University
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส