สำนักข่าวนิเคอิ (Nikkei) รายงานว่าภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นกำลังพยายามจะส่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่รวบรวมได้จากอวกาศส่งมายังโลกภายในปี 2025 ซึ่งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศนั้นเริ่มมีมาตั้งปี 2009 โดย นาโอกิ ชิโนฮาระ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ด้วยการใช้กลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กในวงโคจรที่มีอาร์เรย์แผงโซลาร์เซลล์ รวบรวมพลังงานแสงอาทิตย์ส่งมายังสถานีภาคพื้นดินในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร
พลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศมีแนวคิดจากนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันในปี 1968 โดยการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในอวกาศผลิตไฟฟ้าที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตร แล้วแปลงเป็นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าหรือไมโครเวฟส่งมายังสถานีภาคพื้นดิน และแปลงกลับมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ข้อดีก็คือ การรับแสงในอวกาศทำได้ตลอดวัน แล้วสามารถส่งไมโครเวฟทะลุเมฆ และสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ ซึ่งในปี 1980 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาได้ทดลองส่งพลังงานผ่านไมโครเวฟในอวกาศสำเร็จเป็นครั้งแรก
รัฐบาลและหน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่น (JAXA) ได้พยายามทดลองส่งพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศมาหลายสิบปี และในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์ของ JAXA ประสบความสำเร็จในการส่งพลังงาน 1.8 กิโลวัตต์ ที่เพียงพอสำหรับกาต้มน้ำไฟฟ้า ไปยังเครื่องรับไร้สายในระยะไกลกว่า 50 เมตร ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับการใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศมีการทดลองโครงการในไม่กี่ประเทศ เช่น สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งใช้เวลาและเงินจำนวนมาก โดยการผลิตอาร์เรย์แผงโซลาร์เซลล์สำหรับสร้างพลังงาน 1 จิกะวัตต์ ซึ่งให้ผลลัพธ์เทียบเท่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 เครื่อง จะใช้เงินประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (242,620 ล้านบาท)
ที่มา : engadget.com และ nikkei.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส