สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า บลูออริจิน (Blue Origin) ได้ประกาศแผนจะขยายงานไปยังยุโรปและประเทศต่อ ๆ ไปที่นอกเหนือจากนี้ โดยกำลังมองหาฐานปล่อยจรวดแห่งใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้มีสถานีที่พัฒนา ผลิต และทดสอบงานอวกาศอยู่ในเท็กซัส วอชิงตัน ฟลอริดา และอลาบามา แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้เลือกสถานที่ตั้งฐานปล่อยจรวดแห่งใหม่ แต่ก็ได้เริ่มเล็งที่จะซื้อกิจการและร่วมมือกับพันธมิตรนอกสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ เช่น การผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์
ปีที่แล้วบลูออริจินได้ซื้อกิจการบริษัทหุ่นยนต์อวกาศ Honeybee Robotics ที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งเข้ามาเสริมอยู่ในทีมเพื่อสนับสนุนการสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์สำหรับภารกิจ Artemis ในครั้งที่ 3 ของนาซา ที่มีสัญญามูลค่า 3,400 ล้านเหรียญ (118,592 ล้านบาท) ซึ่งมีคู่แข่งรายสำคัญก็คือ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของ อีลอน มัสก์ ที่คว้าสัญญาพัฒนายานลงจอดคือสตาร์ชิป (Starship) ในภารกิจการลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งที่ 1 และ 2
บลูออริจิน เป็นบริษัทขนส่งอวกาศรายแรกที่สามารถปล่อยจรวด ควบคุมให้กลับมาลงจอด และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จ แต่เนื่องจากการก่อสร้างฐานปล่อยจรวดได้หยุดชะงัก จึงทำให้สเปซเอ็กซ์สามารถแซงหน้าไปหลายก้าว อย่างไรก็ตาม คาดว่าแผนการขยายฐานปล่อยจรวดในหลายพื้นที่ทั่วโลกของบลูออริจิน จะสามารถช่วยให้บริษัทไล่ตามคู่แข่งได้มากขึ้น
แอมะซอน (Amazon) บริษัทแม่ของบลูออริจินได้มีโครงการ Kuiper เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ โดยใช้กลุ่มดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำของโลก 3,236 ดวง โดยมีข้อกำหนดจะต้องปล่อยและใช้งานดาวเทียมให้ได้จำนวนครึ่งหนึ่งภายใน 30 กรกฎาคม 2026 และกลุ่มดาวทั้งหมดไม่เกิน 30 กรกฎาคม 2029 แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการปล่อยดาวเทียมต้นแบบ 2 ดวงแรกคือ KuiperSat-1 และ KuiperSat-2 ดังนั้นการใช้เวลา 3 ปี ในการปล่อยดาวเทียมประมาณ 1,600 ดวง นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ที่มา : engadget.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส