สภาคองเกรสจะยังคงทุ่มงบสำหรับจรวด SLS และแคปซูลอวกาศ Orion ตลอดจนโครงสร้างในระบบการขนส่งอวกาศสู่ดวงจันทร์ต่อไป แต่อาจจะตัดงบในส่วนของภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ให้น้อยลง เพื่อต้องการสนับสนุนให้โครงการอาร์เทมิสได้ไปต่ออย่างเต็มที่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเนื่องจากจรวดไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และคาดว่าโครงการนี้คือศักดิ์ศรีที่ไม่อาจล้มเลิกได้ เพราะงานอวกาศของจีนกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

คณะกรรมาธิการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร์และวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเคาะงบประมาณปี 2024 ให้กับนาซาไว้ประมาณ 25,000 ล้านเหรียญ (865,500 ล้านบาท) ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณที่ได้ในปี 2023 ทั้งนี้ได้แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนงบประมาณไปยังโครงการอาร์เทมิส โดยเฉพาะระบบขนส่งอวกาศจรวด SLS และแคปซูลอวกาศ Orion

โคงการอาร์เทมิสจะได้งบประมาณในชั้นสภาผู้แทนราษฎร์ที่ 7,900 ล้านเหรียญ (273,498 ล้านบาท) หรือในชั้นวุฒิสภา 7,740 ล้านเหรียญ (267,958 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มจากปีงบประมาณ 2023 ประมาณ 440 ล้านเหรียญ (15,232 ล้านบาท) ส่วนภารกิจวิทยาศาสตร์ถูกรีดให้ลดลงมาอยู่ที่ 7,380 ล้านเหรียญ (255,495 ล้านบาท) น้อยกว่าของปีงบประมาณ 2023 อยู่ที่ 7,790 ล้านเหรียญ (269,689 ล้านบาท)

สภาคองเกรสได้เพิ่มงบสนับสนุนโครงการอาร์เทมิสที่จะนำมนุษย์กลับไปเหยียบบนพื้นดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2025 ซึ่งจะต้องให้งบเพียงพอสำหรับการสร้างจรวด SLS และค่าเชื้อเพลิงในการส่งแคปซูลอวกาศ Orion ไปโคจรรอบดวงจันทร์ ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2010 ได้จ่ายเงินสำหรับจรวด SLS สูงถึง 24,000 ล้านเหรียญ (830,880 ล้านบาท) เพราะจรวดไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และในหนึ่งเที่ยวบินต้องใช้เงินหลายพันล้านเหรียญ (หลายแสนล้านบาท) ซึ่งปีที่แล้วได้ใช้จรวดส่งแคปซูลไปโฉบดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก

จากการตรวจสอบพบว่าต้นทุนส่วนหนึ่งของจรวด SLS เกิดจากความล่าช้าของสัญญาจ้างในส่วนของเครื่องยนต์และบูสเตอร์ของจรวด SLS ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,000 ล้านเหรียญ (207,720 ล้านบาท) ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่มีการเพิ่มต้นทุนทำให้รัฐบาลต้องแบกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ปีงบประมาณ 2023 นาซาได้งบ 25,400 ล้านเหรียญ (879,348 ล้านบาท) จัดสรรให้กับจรวด SLS ที่ 2,600 ล้านเหรียญ (90,012 ล้านบาท), แคปซูล Orion ที่ 1,340 ล้านเหรียญ (46,390 ล้านบาท) และสัญญาสำหรับระบบการลงจอด 1,480 ล้านเหรียญ (51,237 ล้านบาท) ส่วนโครงการวิทยาศาสต์ที่รวมทั้งภารกิจการเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมายังโลก และวิทยาศาสตร์บนโลกได้งบรวม 7,800 ล้านเหรียญ (270,036 ล้านบาท)

ที่มา : techcrunch.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส