สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กำลังจะปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ไปยังวงโคจรระดับต่ำของโลกเพิ่มอีก 22 ดวง ในภารกิจ Group 6-7 ที่ขับดันโดยจรวด Falcon 9 ออกจากแท่นปล่อยจรวด SLC-40 ที่สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม เวลา 10:20 p.m. ET (วันศุกร์ เวลา 09:20 น. ในประเทศไทย) ซึ่งจะเป็นเที่ยวบินที่ 48 ของจรวด Falcon 9 และภารกิจที่ 51 ของสเปซเอ็กซ์ในปี 2023

ล่าสุด ณ วันที่ 24 กรกฎาคม สเปซเอ็กซ์มีดาวเทียมสตาร์ลิงก์อยู่ในวงโครที่ 4,519 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียม Starlink V2 Mini ที่อยู่ในวงโคจรจำนวน 134 ดวง ทำงานผิดปกติก่อนที่จะถึงวงโคจร 11 ดวง ซึ่งทั้งหมดมาจากกลุ่มดาวเทียม Group 6 ใน 7 ภารกิจ

เมื่อภารกิจนี้สำเร็จก็จะทำให้สเปซเอ็กซ์มี Starlink V2 Mini อยู่ในวงโคจรเพิ่มขึ้นเป็น 156 ดวง และมีดาวเทียมในวงโคจรทั้งหมด 4,541 ดวง นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเทียมสตาร์ลิงก์ได้เปิดให้บริการแล้วใน 61 ประเทศ ซึ่งในเดือนกรกฎาคมได้เปิดบริการใหม่ใน 5 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเทศที่ 2 ในเอเชีย คือ มาเลเซีย และรวมสมาชิกทั้งหมดมากกว่า 1,500,000 ราย

ภารกิจ Group 6-7 เป็นการปล่อยดาวเทียม Starlink V2 Mini ที่อยู่ในกลุ่มหรือเชลล์ 6 มีวงโคจรอยู่ที่ 530 กิโลเมตร มุมเอียง 43 องศา ทั้งนี้ V2 Mini ได้ถูกลดขนาดลงจากรุ่น V2 เพื่อให้รองรับการขนส่งด้วยจรวด Falcon 9 เนื่องจากรุ่น V2 มีขนาดใหญ่จะต้องขนส่งด้วยยานสตาร์ชิปที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้

ดาวเทียม Starlink V2 Mini มีเสาอากาศอาร์เรย์ที่ทรงพลังมากขึ้นและใช้ความถี่ย่าน E-band สําหรับ backhaul (เชื่อมต่อระหว่างโหนด) ซึ่งจะทําให้ดาวเทียมแต่ละดวงสามารถให้ความจุมากกว่า Starlink v1.0 และ v1.5 ได้ถึง 4 เท่า

ภารกิจนี้จะใช้บูสเตอร์ B1062 ขึ้นบินเป็นครั้งที่ 15 สำหรับนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า โดยผ่านภารกิจปล่อยดาวเทียม GPS III SV04, ดาวเทียม GPS III SV05, ภารกิจ Inspiration4, เที่ยวบินโดยสารไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในภารกิจ Ax-1 (Axiom-1), ปล่อยดาวเทียมสื่อสารของอียิปต์ Nilesat 301, ภารกิจ OneWeb Launch 17 และได้ปล่อยกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงก์ 8 ภารกิจ

หลังจากจรวด Falcon 9 ถูกปล่อยขึ้นไปประมาณ 2 นาทีครึ่ง บูสเตอร์ B1062 จะแยกตัวกลับมาลงจอดบนเรือโดรน A Shortfall of Gravitas ที่จอดรออยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาประมาณนาทีที่ 9 หลังจากปล่อยจรวด

ที่มา : spacex.com และ nextspaceflight.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส