วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม เกาหลีเหนือได้ปล่อยจรวด Chollima-1 เป็นครั้งที่ 2 ในการส่งดาวเทียมสอดแนมไปสู่วงโคจรของโลก แต่เนื่องจากจรวดท่อนที่ 3 มีปัญหา จึงทำให้ภารกิจนี้ไม่สำเร็จ ซึ่งคาดว่าสาเหตุเกิดจากความเร่งรีบในการทำภารกิจ หลังจากพึ่งปล่อยจรวด Chollima-1 ในภารกิจแรกได้ไม่ถึง 3 เดือน ทั้งนี้ทางการเกาหลีเหนือเผยว่าจะพยายามทำภารกิจครั้งที่ 3 ในเดือนตุลาคม

31 พฤษภาคม เกาหลีเหนือได้ปล่อยจรวด Chollima-1 เพื่อส่งดาวเทียมสอดแนมไปสู่วงโคจรเป็นครั้งแรก แต่ภารกิจล้มเหลวเนื่องจากจรวดท่อนที่ 2 จุดระเบิดเร็วเกินไป ซึ่งเกิดจากความไม่เสถียรของเครื่องยนต์และระบบเชื้อเพลิง จึงทำให้จบลงด้วยการตกลงสู่ทะเล ซึ่งนับว่าเป็นเที่ยวบินที่ 6 ของเกาหลีเหนือตั้งแต่การปล่อยดาวเทียมสอดแนมครั้งแรกเมื่อปี 2016

สื่อทางการเกาหลีเหนือรายงานว่าภารกิจครั้งล่าสุดนี้ ได้ยุติลงด้วยระบบระเบิดฉุกเฉิน หลังจากที่จรวดท่อนที่ 3 ทำงานผิดพลาด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจึงต้องระเบิดทำลายตัวเอง และจะปล่อยภารกิจที่ 3 เพื่อแก้มือในเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าเหตุผลที่เร่งรีบเป็นเดือนตุลาคม เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากความเร็วลมและทิศทางลมในช่วงฤดูหนาวจะทำได้ยาก

เกาหลีเหนือต้องการปอยดาวเทียมสอดแนมเพื่อติดตามกองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าเกาหลีเหนืออาจจะเก่งในเรื่องปล่อยขีปนาวุธในระยะสั้น ๆ แต่การปล่อยจรวดไปสู่วงโคจรมีสเกลที่ใหญ่กว่ามาก

นอกจากนี้เกาหลีเหนือได้เปิดแผนปล่อยดาวเทียมสอดแนมด้วยจรวด Chollima-1 ครั้งแรก หลังจากเกาหลีใต้สามารถปล่อยจรวดนูริ (Nuri) หรือ KSLV-II ส่งดาวเทียมที่ออกแบบเองไปสู่วงโคจรได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2023 และก่อนหน้านั้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2022 สามารถปลอยจรวดนูริไปสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 700 กิโลเมตร สำเร็จเป็นแรกพร้อมด้วยดาวเทียมจำลอง แต่ภารกิจแรกของจรวดนูริเมื่อ 21 ตุลาคม 2021 ไม่สำเร็จ

ที่มา : reuters.com ภาพ : news.usni.org

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส