วันศุกร์ที่ 8 กันยายน สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ได้ปิดการสอบสวนอุบัติเหตุจากการบินทดสอบสตาร์ชิป (Starship) ไปสู่วงโคจรครั้งแรกของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งได้เกิดการระเบิดของจรวดกลางอากาศ และ FAA ก็ได้มีคำสั่งให้สเปซเอ็กซ์จะต้องแก้ไขเกี่ยวกับความปลอดภัยจำนวน 63 รายการให้เรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถยื่นขอและแก้ไขใบอนุญาตจาก FAA เพื่อบินทดสอบสตาร์ชิปในครั้งที่ 2 ได้
20 เมษายน สเปซเอ็กซ์ได้ทดสอบการบินของสตาร์ชิปไปสู่วงโคจรครั้งแรก ระหว่างปล่อยจรวดพบว่าเครื่องยนต์ Raptor จำนวน 33 ตัวของบูสเตอร์คือจรวด Super Heavy ที่มีแรงขับดันอย่างเหลือเชื่อได้ทำให้แท่นยิงจรวดเสียหาย ส่งผลให้ทรายและคอนกรีตกระเด็นออกไปยังพื้นที่โดยรอบหลายไมล์ อีกทั้งในขณะที่บูสเตอร์ถูกแยกออกมาไม่สำเร็จ จึงได้มีการสั่งทำลายระเบิดตัวเองอัตโนมัติ
การระเบิดของสตาร์ชิปได้เกิดเศษซาก เถ้าถ่าน ฝุ่นละออง ปลิวว่อนไปทั่วพื้นที่รอบบริเวณปล่อยจรวดหลายร้อยเอเคอร์ (ประมาณพันไร่) ปกคลุมไปยังบ้าน โรงเรียน และที่ดินของชาวบ้านในแถบนั้น รวมทั้งทำให้เกิดไฟไหม้ที่ดินของรัฐ 3.5 เอเคอร์ (8.85 ไร่)
FAA ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่ต้องแก้ไขทั้งหมด 63 รายการ แต่โดยรวมสิ่งที่จะต้องแก้ไข คือ ออกแบบฮาร์ดแวร์ของยานใหม่ ออกแบบแท่นปล่อยจรวดใหม่ วิเคราะห์และทดสอบระบบวิกฤตที่มีความปลอดภัย
หลังจากการประกาศของ FAA สเปซเอ็กซ์ได้โพสต์ว่าบริษัทได้รับบทเรียนจากการบินทดสอบสตาร์ชิปในครั้งแรก ซึ่งส่งผลให้มีการอัปเกรดหลายอย่างให้กับยานและโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน และกล่าวเพิ่มเติมว่าหลักการพัฒนาซ้ำอย่างรวดเร็ว เป็นพื้นฐานสำหรับความก้าวหน้าทางนวัตกรรมที่สำคัญทั้งหมดของสเปซเอ็กซ์ ได้แก่ จรวด Falcon, ยาน Dragon และดาวเทียม Starlink
สเปซเอ็กซ์เผยว่าขณะนี้กำลังอัปเกรดระบบที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาจากการบินในครั้งแรก ได้แก่ ระบบควบคุมเวกเตอร์ของ Thruster แบบใหม่ที่เป็นไฟฟ้าให้กับเครื่องยนต์ของจรวด Super Heavy ในการจัดการทิศทางของ Thruster เพื่อควบคุมความเร็วเชิงมุมของจรวด และระบบการแยกจรวดที่เรียกว่า “hot-stage” ซึ่งเครื่องยนต์บนท่อนที่ 2 ของสตาร์ชิป จะจุดระบิดเพื่อดันตัวเองแยกออกมาจากบูสเตอร์
วันอังคารก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์โพสต์บน X (Twitter) ว่าสตาร์ชิปพร้อมที่จะปล่อยภารกิจแล้ว โดยกำลังรอการอนุมัติใบอนุญาตจาก FAA ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าต้องมีการแก้ไขด้านความปลอดภัยแต่อย่างใด
ประเด็นนี้เชื่อว่ามัสก์คงจะมองโลกในแง่ดี ทั้งที่ความเป็นจริงในการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับบินทดสอบสตาร์ชิปไปสู่อวกาศครั้งแรก ได้เริ่มเปิดทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2021 และก็จบสามารถบินทดสอบได้เมื่อ 20 เมษายน 2023 สรุปง่าย ๆ ว่าการอนุมัติต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
ที่มา : techcrunch.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส