Emergency Mobile Alert หรือ EMS คือระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความ ซึ่งถูกส่งมาจากหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อแจ้งเตือนเกี่ยวกับเหตุคุกคามที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัย แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาพอากาศที่รุนแรง แจ้งเตือนเด็กหาย หรือแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะ
โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำผ่านระบบ Cell Broadcast หรือ CB ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกับการส่งข้อความ SMS ผ่านเครือข่ายมายังโทรศัพท์มือถือของประชาชนหลายในพื้นที่ และในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์
ซึ่งระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความดังกล่าวถูกใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ประสบกับภัยจากธรรมชาติบ่อยครั้ง เช่น ระบบ J-Alert ของ ญี่ปุ่น ซึ่งข้อความการแจ้งเตือนจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับ เพื่อลดความซับซ้อนของข้อมูล และทำให้เกิดการอพยพทันทีเมื่อจำเป็น ในขณะที่ ฟิลิปปินส์ มีระบบที่ชื่อว่า Emergency Cell Broadcast System หรือ ECBS ซึ่งนอกจากจะใช้แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความแล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพอีกด้วย
อีกหนึ่งตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียคือ เกาหลีใต้ ที่มีระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความครอบคลุมหลายเหตุการณ์ เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศรุนแรง รวมถึงมลภาวะอย่าง PM 2.5 และขณะนี้รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาการแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยเพิ่มเติม หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมฮาโลวีนที่อิแทวอน เมื่อปี 2022 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากจากเหตุการณ์เหยียบกันตาย
สำหรับ ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากและเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง โดยพวกเขามีระบบเตือนภัยฉุกเฉินทางโทรศัพท์ที่เรียกว่า Emergency Alert Australia ที่การแจ้งเตือนจะถูกส่งผ่านระบบโทรศัพท์แห่งชาติ โดยข้อความเสียงจะถูกส่งไปยังโทรศัพท์บ้าน และข้อความตัวอักษรจะถูกส่งไปยังโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนในประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนดังกล่าว เพราะหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ประเมินว่า พื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ จึงจะแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น
ถัดมาคือ สหภาพยุโรป ที่มีระบบกลางคือ EU-Alert แม้ว่าภูมิภาคนี้จะเกิดภัยธรรมชาติไม่บ่อยเท่าในเอเชีย แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น การโจมตีของผู้ก่อการร้าย แต่ด้วยกฎหมายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทำให้การแจ้งเตือนจะแตกต่างกันออกไปด้วย
ปิดท้ายกันที่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระบบ EMS คล้ายกับประเทศอื่น ๆ ที่กล่าวมา แต่สิ่งที่มีเพิ่มเติมคือ AMBER Alert ที่ใช้แจ้งเตือนเด็กหายในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรก โดยผู้คนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุจะได้รับข้อมูลเบื้องต้น เช่น รูปร่างหน้าตาของเด็ก หมายเลขทะเบียนและลักษณะของรถยนต์ที่คาดว่าลักพาตัวเด็กไป เพื่อให้ทุกคนในพื้นที่ช่วยกันสอดส่องและคอยตามหาเด็ก ๆ
สำหรับประเทศไทย ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินเลย เพราะหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ จะมีแอปพลิเคชันของตนเองเพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เช่น แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือ LINE Alert บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงของ LINE ที่รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐอีกที
อย่างไรก็ตาม อาจมีประชาชนบางส่วนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลการแจ้งเตือนเหล่านี้ เนื่องจากปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ ดังนั้น การมีระบบ EMS หรือระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความของส่วนกลางน่าจะตอบโจทย์การเตรียมความพร้อมและการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ดีที่สุด
ที่มา : Cell Broadcast, Emergency Mobile Alert
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส