เมื่อเร็ว ๆ นี้ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้ลงนามข้อตกลงกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) สำหรับการส่งดาวเทียมกาลิเลโอของยุโรป 4 ดวงไปสู่วงโคจร 2 เที่ยวบิน ๆ ละ 2 ดวงในปีหน้า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติตามกฎระเบียบขั้นสุดท้าย และค่อนข้างชัวร์ว่าสเปซเอ็กซ์จะได้งานนี้เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้นั่นเอง
กลุ่มดาวเทียมกาลิเลโอ (Galileo) เป็นกลุ่มดาวดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรรอบโลกระดับกลาง ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลก (GNNS) ของสหภาพยุโรป ใช้สำหรับแสดงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และเวลาที่ครอบคลุมทั่วโลก รวมทั้งมีการสื่อสารแบบเข้ารหัสที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อความทางทหาร ซึ่งคล้ายกับ GPS (Global Positioning System) ระบบดาวเทียมนำทางของสหรัฐฯ, GLONASS ของรัสเซีย และ BeiDou ของจีน
ปกติยุโรปจะใช้จรวด Vega ของอิตาลีสำหรับบรรทุกน้ำหนักขนาดเล็ก, จรวดโซยุส (Soyuz) ของรัสเซียบรรทุกน้ำหนักขนาดกลาง แต่หลังจากสงครามยูเครนก็ได้ถูกระงับการใช้จรวดโซยุสของรัสเซีย และมีจรวด Ariane 5 ของยุโรปเองสำหรับบรรทุกภารกิจน้ำหนักสูง แต่ได้ถูกเลิกใช้งานไปแล้ว
นอกจากนี้ยุโรปยังมีจรวดรุ่นใหม่คือ จรวด Ariane 6 และ Vega-C ซึ่งจรวด Ariane 6 กำลังพัฒนามาแทนที่จรวดโซยุซและ Ariane 5 แต่ติดปัญหาความล่าช้าและถูกเลื่อนออกไปจนถึงกลางปี 2024 ส่วน Vega-C จะกลับมาบินในปลายปี 2024
ดังนั้น ESA จึงต้องตัดสินใช้บริการจรวดของสเปซเอ็กซ์ สำหรับภารกิจกาลิเลโอที่เร่งด่วนกว่าการรอจรวดของตัวเองที่ยังไม่พร้อม
ล่าสุดสเปซเอ็กซ์ได้ปล่อยภารกิจไปสู่วงโคจรในปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 75 ภารกิจ และมีแผนที่จะปล่อยจรวด Falcon 9 ในปี 2024 มากถึง 144 ภารกิจ หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 12 เที่ยวบิน
ยุโรปมีบริษัทสตาร์ทอัปด้านจรวดขนส่งอวกาศอยู่หลายบริษัท ซึ่งล่าสุด PLD Space ของสเปนพึ่งได้ทดสอบบินจรวด Miura 1 ในแบบ Sub-orbital เป็นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ยุโรปยังมีบริษัทสตาร์ตอัปขนส่งอวกาศอื่น ๆ ได้แก่ Skyrora, Orbex, Rocket Factory Augsburg, HyImpulse และ Isar
ที่มา : payloadspace.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส