วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน นักวิทยาศาสตร์ได้เสนองานวิจัยที่ให้น้ำหนักกับ ทฤษฎีการชนครั้งใหญ่ (The giant-impact theory) ในการให้กำเนิดดวงจันทร์เมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ซึ่งเกิดจากการชนกันระหว่างโลกกับดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าดาวอังคารมีชื่อ ทีอา (Theia) แล้วเศษซากจากการกระแทกก็ได้รวมตัวกันในวงโคจรรอบโลกและก่อตัวเป็นดวงจันทร์ แต่หลายสิบปีก่อนไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของทีอา จึงทำให้ทฤษฎีนี้ยังดูคลุมเคลือ จนล่าสุดได้พบก้อนประหลาดเป็นเศษซากของทีอาฝังอยู่ในเนื้อโลก
งานวิจัยใหม่นำโดยสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เผยว่าประมาณ 1,800 ไมล์ (2,896 กิโลเมตร) ใต้พื้นผิวโลก หรือในเนื้อโลก (Mantle) เป็นชั้นที่อยู่ระหว่างเปลือกโลกกับแกนกลางที่หลอมละลาย ได้มีก้อนวัตถุ (Blobs) ประหลาดขนาดใหญ่เท่าทวีปจำนวน 2 ก้อนฝังอยู่ ซึ่งถูกค้นพบโดยคลื่นแผ่นดินไหวในช่วงทศวรรษ 1980 ก้อนวัตถุชิ้นหนึ่งอยู่ใต้ทวีปแอฟริกาและอีกก้อนอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิก
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าก้อนเหล่านี้ร้อนกว่าและหนาแน่นกว่าหินที่อยู่รอบ ๆ อย่างมาก และบ่งบอกว่าก้อนวัตถุโบราณที่ฝังอยู่นี้ เกิดจากทีอาที่เคลื่อนที่เข้ามาชนกับโลก และได้เกิดเป็นเศษซากฝังอยู่ในเนื้อโลก ซึ่งนอกจากจะสร้างดวงจันทร์แล้ว เศษซากที่ทิ้งไว้อาจช่วยทำให้โลกกลายเป็นดาวเคราะห์ที่สามารถอาศัยของสิ่งมีชีวิต และเศษอีกจำนวนมากได้กระเด็นขึ้นสู่วงโคจรและก่อตัวเป็นดวงจันทร์
นักวิทยาศาสตร์เผยว่าทีอาได้เดินทางเข้ามาชนโลกด้วยความเร็วมากกว่า 6 ไมล์ (9.65 กิโลเมตร) ต่อวินาที (34,740 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งทำให้ชิ้นส่วนของทีอาบางส่วนทะลุเข้าไปในเนื้อโลก และได้มีการสร้างแบบจำลองเป็นภาพภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบของทีอาได้หลอมเหลวหมุนวนรอบอยู่ภายในโลก ต่อมาเมื่อเย็นตัวลงและแข็งตัวก็ถูกฝังอยู่ในเนื้อโลก
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลอง โดยจะมีการเปรียบเทียบตัวอย่างหินจากเนื้อโลกกับตัวอย่างหินบางส่วนจากดวงจันทร์ว่ามีความคล้ายคลึงกันหรือไม่
ที่มา : nature.com และ cbsnews.com ภาพ : NASA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส