องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Voyager Space และ Airbus Defense and Space ในการใช้บริการสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ Starlab สำหรับภารกิจนักบินอวกาศ และเป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์และการวิจัยในระยะยาว ซึ่งช่วยให้ยุโรปสามารถเข้าถึงอวกาศอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดอวกาศยุโรป ณ เมืองเซบียา ประเทศสเปน
Voyager Space และคณะจะช่วยสำรวจดูว่า ESA สามารถใช้สถานีอวกาศ Starlab อย่างครบวงจรได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการใช้แคปซูลอวกาศขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศของยุโรป คล้ายกับที่สเปซเอ็กซ์ให้บริการขนส่งสัมภาระและนักบินอวกาศไปกลับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
เมื่อต้นสัปดาห์ ESA เผยว่ากำลังมีโครงการริเริ่มที่จะใช้บริการแคปซูลอวกาศของบริษัทในยุโรป สำหรับขนส่งสัมภาระ และจากนั้นก็สามารถพัฒนาสู่การขนส่งนักบินอวกาศหรือลูกเรือได้
สถานีอวกาศนานาชาติมีกำหนดจะปลดประจำการในปี 2030 ทั้งนี้นาซาในฐานะหัวเรือใหญ่ของกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตร ได้ทาบทามบริษัทเอกชนที่เคยจ้างให้ขนส่งสัมภาระไปยัง ISS จนคุ้นเคย มาพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่เป็นของเอกชนโดยจะช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเดือนธันวาคม 2021 ได้มอบสัญญาจ้างมูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญ (14,416 ล้านบาท) ให้แก่ 3 กลุ่มบริษัท Voyager Space, Blue Origin และ Northrop Grumman
ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม ESA จึงเลือกทำข้อตกลงใช้บริการสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์ Starlab ของ Voyager Space นั่นก็เพราะว่า Voyager Space ร่วมทุนกับ Airbus ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติของยุโรปนั่นเอง ซึ่ง ESA และ Airbus ได้ร่วมมือกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ภารกิจยานอวกาศที่มีลูกเรือและยานอวกาศไร้คนขับ
ที่มา : techcrunch.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส