4 ธันวาคม เวลา 12.00 น. หน่วยงานเพื่อการพัฒนากลาโหมของเกาหลีใต้ (ADD) ได้ทำการทดสอบปล่อยจรวด SLV ที่ใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นครั้งที่ 3 ในการปล่อยต้นแบบดาวเทียมสังเกตการณ์โลกขนาดเล็กที่ใช้เรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ (SAR) มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พัฒนาโดย Hanwha Systems ออกจากแท่นปล่อยจรวดของ ADD นอกชายฝั่งเกาะเชจู ประเทศเกาหลีใต้ ไปสู่วงโคจรที่ความสูงประมาณ 650 กิโลเมตรสำเร็จ
ก่อนหน้านี้กลาโหมเกาหลีใต้ได้ทดสอบปล่อยจรวดเชื้อเพลิงแข็งมาแล้ว 2 ครั้ง ด้วยการทดสอบแบบ Sub-orbital หรือทดสอบวงโคจรย่อยบินตรงขึ้นไปในแนวตั้ง (ไม่ได้ไปตามแนววงโคจร) เมื่อ 30 มีนาคม และ 30 ธันวาคม 20223 ซึ่งบรรทุกน้ำหนักด้วยดาวเทียมจำลอง และล่าสุดการทดสอบครั้งที่ 3 เป็นการทดสอบบินไปตามแนววงโคจร (Orbital test) เป็นครั้งแรก พร้อมกับขนส่งดาวเทียมสังเกตการณ์โลกขนาดเล็กที่พัฒนาโดยภาคเอกชน
จรวดเชื้อเพลิงแบบแข็งที่พัฒนาโดย ADD มีทั้งหมด 4 ท่อน ซึ่งท่อนที่ 1 – 3 ใช้เชื้อเพลิงแข็ง และท่อนที่ 4 ใช้เชื้อเพลิงเหลว ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้วการทดสอบ 2 ครั้งเป็นจรวดท่อน 2, 3 และ 4 ส่วนครั้งล่าสุดทดสอบจรวดท่อนที่ 1, 3 และ 4 ซึ่งหลังจากนี้จะทดสอบครั้งสุดท้ายในการปล่อยดาวเทียมที่มีน้ำหนัก 500 -700 กิโลกรัมด้วยจรวดครบทั้ง 4 ท่อนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2025 และมีเป้าหมายว่าอนาคตจะส่งดาวเทียมหนักได้ถึง 1,500 กิโลกรัม
การปล่อยดาวเทียมสังเกตการณ์ขนาดเล็กของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นหลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศว่าได้ปล่อยดาวเทียมสอดแนมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จเมื่อเดือนที่แล้ว ดังนั้นภารกิจนี้จึงช่วยให้เกาหลีใต้สามารถมีดาวเทียมขนาดเล็กไว้ใช้รับมือกับเกาหลีเหนือได้ทันเวลา และมีแผนจะติดตั้งดาวเทียมสอดแนมทางทหาร 5 ดวงภายในปี 2025 เพื่อติดตามส่องการทำงานทางทหารของเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้มีแผนจะถ่ายทอดเทคโนโลยีจรวดเชื้อเพลิงแข็งให้กับบริษัทเอกชน ตลอดจนเทคโนโลยีการประกอบจรวดและการตรวจสอบ เพื่อพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่สมบูรณ์ต่อไป
ที่มา : nextspaceflight.com และ yna.co.kr ภาพ : donga.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส