บริษัทนิวสเปซอินเดีย (NSIL) เป็นวิสาหกิจภายใต้กระทรวงอวกาศของอินเดีย ประกาศจะปล่อยดาวเทียมสื่อสาร GSAT-20 โดยใช้บริการจรวด Falcon-9 ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ในปี 2024 ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสเปซเอ็กซ์กับรัฐบาลอินเดีย หลายคนเริ่มสงสัยว่าอินเดียเองก็มีจรวดขนส่งอวกาศอยู่หลายขนาด และเคยให้บริการขนส่งดาวเทียมบรอดแบนด์ OneWeb มาแล้ว แต่ทำไมไม่ใช้จรวดของตัวเอง ?

ดาวเทียม GSAT-20 เป็นดาวเทียมสื่อสารที่มีปริมาณงานสูง มีความจุ 48 กิกะบิตต่อวินาที เป็นเจ้าของให้ทุนการผลิตและดำเนินงานโดย NSIL ซึ่งจะใช้ส่งเสริมการสื่อสารบรอดแบนด์ในอินเดีย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีการเชื่อมต่อของประเทศ

ทั้งนี้ดาวเทียม GSAT-20 มีน้ำหนักสูงถึง 4,700 กิโลกรัม ขนาดใหญ่เกินกว่าจรวดของหน่วยงานอวกาศอินเดีย (ISRO) จะบรรทุกไปสู่วงโคจรค้างฟ้าได้ เพราะปกติรองรับได้แค่ 4,000 กิโลกรัม จึงได้ตกลงเซ็นสัญญาขอใช้บริการจรวดของสเปซเอ็กซ์สำหรับการปล่อยดาวเทียมที่จะมีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2024

ก่อนหน้านี้อินเดียจะขนส่งดาวเทียมน้ำหนักสูงด้วยจรวด Ariane 5 ของ Arianespace บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส แต่จรวดรุ่นนี้ได้ถูกเลิกใช้งานไปแล้วเพราะมีต้นทุนสูง ซึ่งมีจรวดรุ่นใหม่ที่ต้นทุนถูกกว่าคือ Ariane 6 จะถูกปล่อยทำภารกิจในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่เนื่องจากการพัฒนา Ariane 6 มีความล่าช้าและคิวค่อนข้างยาว NSIL จึงหันมาใช้บริการของสเปซเอ็กซ์แทน

ที่มา : reuters.com และ wikipedia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส