สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) กำลังจะปล่อยภารกิจ TELKOMSAT MERAH PUTIH 2 ในการส่งดาวเทียมสื่อสารที่มีปริมาณงานสูง Merah Putih 2 ของ Telkomsat บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติอินโดนีเซีย ไปยังวงโคจรการถ่ายโอน ซึ่งขับดันด้วยจรวด Falcon 9 ออกจากแท่นปล่อยจรวด SLC-40 ที่สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลา 3:11 p.m. ET. (03:11 น. วันพุธ ในประเทศไทย) ซึ่งจะเป็นภารกิจที่ 16 ของสเปซเอ็กซ์ในปี 2024
ดาวเทียม HTS-113BT หรือ Merah Putih 2 เป็นดาวเทียมสื่อสารที่มีปริมาณงานสูง (HTS) ในย่านความถี่ C-band/Ku-Band ของบริษัท PT Telkom Satelit Indonesia (Telkomsat) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเจ้าของ เมื่อดาวเทียมถูกปล่อยสู่วงโคจรการถ่ายโอน จากนั้นจะใช้พลังงานขับดันไปประจำอยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 113° ตะวันออก
ดาวเทียม HTS-113BT ถูกสร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม Spacebus 4000B2 ของ Thales Alenia Space ซึ่งมีความจุที่รองรับปริมาณในการรับส่งข้อมูลได้มากกว่า 32 Gbps โดยให้บริการครอบคลุมพื้นที่อินโดนีเซีย และมีอายุการใช้งานถึง 15 ปี
ภารกิจนี้จะใช้บูสเตอร์ B1067 ขึ้นบินเป็นครั้งที่ 17 สำหรับนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า โดยได้ผ่านภารกิจ CRS-22 ขนส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS), ภารกิจ Crew-3 ส่งนักบินอวกาศไป ISS, ภารกิจปล่อยดาวเทียมสื่อสาร Turksat 5B ของตุรกี, ภารกิจ Crew-4 ส่งนักบินอวกาศไป ISS, ภารกิจ CRS-25 ขนส่งเสบียงไปยัง ISS, ปล่อยดาวเทียม Eutelsat HOTBIRD 13G, ภารกิจ SES O3b mPOWER, ภารกิจปล่อยดาวเทียม Satria และภารกิจปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ 8 เที่ยวบิน
หลังจากจรวด Falcon 9 ถูกปล่อยขึ้นไปประมาณ 2 นาทีครึ่ง บูสเตอร์ B1067 จะแยกตัวกลับมาลงจอดบนเรือโดรน Just Read the Instructions ที่จอดรออยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกในเวลาประมาณนาทีที่ 9 หลังจากปล่อยจรวด
ที่มา : spacex.com และ nextspaceflight.com
***