การผายลมของวัว ที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ นอกจากจะส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงได้จริงหรือ

'ตดวัว' ปัจจัยเพิ่มอุณหภูมิโลก

เมื่อวัวกินหญ้าที่มีไฟเบอร์เส้นใยหน้าเข้าไป มันจะเข้าไปผ่านกระบวนการย่อยจากจุลินทรีย์ที่ชื่อว่าเมทาโนเจน (Methanogen) ภายในกระเพาะอาหารส่วนแรกที่เรียกว่าผ้าขี้ริ้วหรือรูเมน (Rumen) จนกลายเป็นก๊าซมีเทนในปริมาณมาก

ก่อนจะถูกส่งออกมาภายนอกตัววัวในรูปแบบของตด และเรอ เช่นเดียวกับสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินพืชไฟเบอร์เป็นหลักอย่างแพะและกวางก็มีกระบวนการนี้เกิดขึ้นกับร่างกายของพวกมันเช่นกัน

ข้อมูลดาวเทียมการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ (ที่มา: Methane Alert and Response System – MARS)

ตดและเรอของสัตว์เหล่านี้เมื่อรวมกันเป็นปริมาณมหาศาล จะกลายเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas – GHG) ที่มีส่วนเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้ร้อนระอุขึ้นไปอีก และยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 30%

มีการประเมินว่าวัวทั่วโลกมีมากถึง 1,500 ล้านตัว และวัวแต่ละตัวสามารถปล่อยมึเทนได้มากกว่า 99 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบได้กับน้ำมันมากกว่า 3,000 ถังเลยทีเดียว

แนวโน้มของการปล่อยมีเทนยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี

มีเทน VS คาร์บอนไดออกไซด์

มีเทน (CH4) ถือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในชั้นบรรยากาศเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยคิดเป็นราว 13-19% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลกต่อปี

ตัวมันเองแท้จริงแล้วไม่ได้มีสี กลิ่น และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อถูกปล่อยขึ้นไปแล้วจะค้างอยู่เป็นเวลามากกว่า 12 ปี

อุตสาหกรรมปสุสัตว์มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นอันดับ 1 ของการปล่อยก๊าซมีเทนด้วยฝีมือมนุษย์ต่อปีหรือราว 14.5 – 32% ซึ่งวัวเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ

ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ว่าก๊าซมีเทนเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศต่อเมเลกุลมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้มันทำอันตรายต่อชั้นบรรยากาศมากถึง 80 เท่า ในเวลา 20 ปีหลังถูกปล่อยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ

เทคโนโลยี 'สาหร่ายแดง'

แน่นอนว่าทางแก้ที่เห็นชัดที่สุด แต่อาจจะทำยากที่สุดคือการลดกินเนื้อวัว และลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านี้ ซึ่งคงไม่ถูกใจผู้ชื่นชอบเนื้ออย่างเรา ๆ

แต่ในปัจจุบันก็มีการศึกษาจำนวนมากที่พบว่าการเปลี่ยนอาหารของวัวไปเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนเป็นจำนวนน้อยกว่า

หนึ่งในตัวเลือกเหล่านั้นก็คือสาหร่ายแดง ที่มีสตาร์ทอัปที่ชื่อ Rumin8 จากออสเตรเลียเป็นผู้พัฒนาขึ้น โดยได้รับเงินลงทุนจากนักธุรกิจใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) และ แจ็ก หม่า (Jack Ma) ด้วย

โดย Rumin8 ได้พัฒนาสาหร่ายแดง และพืชทุ่งหญ้าอื่น ๆ ที่เลียนแบบสารประกอบที่ต่อต้านเมทาโนเจนตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาได้

การทดสอบในสวีเดนเมื่อปี 2022 ที่มีการนำสาหร่ายแดงจากบริษัทที่ชื่อ Volta Greentech ให้วัวลองกินทดแทนเป็นเวลา 6 เดือน ก็พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนลดลงอย่างมีนัยสำคัญจริง ๆ

นอกจากสาหร่ายแดงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ในหลายสถาบันยังมีโครงการวิจัยในการใช้เครื่องมือตัดแต่งพันธุกรรม CRISPR เพื่อลดต้นตอการปล่อยมีเทนจากในตัววัวอีกด้วย ซึ่งผลก็ต้องรอดูกันต่อไป

วัวทำโลกร้อนจริง

แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว วัวจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของสภาวะโลกร้อนจริง ๆ อย่างน่าประหลาดใจ ใครจะไปคิดว่า แค่ตดและเรอก็เป็นสาเหตุเพิ่มอุณหภูมิโลกได้แล้ว

แต่ต้องไม่ลืมความจริงว่าการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน และการปศุสัตว์ที่ทำให้ต้องเลี้ยงวัวจำนวนมาก ๆ ด้วย