วันศุกร์ที่ 5 เมษายน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือในการสำรวจและการใช้อวกาศอย่างสันติ และบันทึกความเข้าใจด้วยความร่วมมือในสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Reserach Station หรือ ILRS) ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย กับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน โดยมี จาง เค่อเจี้ยน (Zhang Kejian) อำนวยการองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวต้อนรับ
ในบันทึกความเข้าใจเผยว่า จีนและไทยจะตั้งคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานเพื่อสร้างความมือในด้านการสำรวจอวกาศ การใช้อวกาศ และสร้างขีดความสามารถด้านอวกาศ โดยการวางแผนและการดำเนินโครงการอวกาศต่าง ๆ ร่วมกัน รวมทั้งโครงการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และโครงการฝึกอบรมบุคลากร แลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันจัดสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
จีนและไทยจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการทดลอง การดำเนินการทางวิศวกรรม การดำเนินงานและประยุกต์ใช้สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์นานาชาติ โดยจะมีการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการวิจัยใน 3 ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งการจัดทำแผนความร่วมมือ
นอกจากนี้ โครงการสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์นานาชาติยังเปิดรับความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อรับประโยชน์จากภารกิจการสำรวจอวกาศร่วมกัน
ปี 2018 ไทยได้ร่วมมือในด้านอวกาศกับจีน โดยร่วมกันสร้างศูนย์แลกเปลี่ยนและความร่วมมือข้อมูลเชิงพื้นที่แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง และศูนย์ข้อมูลการสำรวจระยะไกลแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ต่อมาในปี 2023 จีนได้เลือกใช้เครื่องตรวจสภาพอากาศในอวกาศที่พัฒนาโดยประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกขนส่งไปกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 (Chang’e-7) ซึ่งในอนาคตจีนและไทยจะร่วมมือกันทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ด้วย
ฉางเอ๋อ-7 เป็นภารกิจในการส่งหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์สัญชาติจีนไปยังขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2026 ซึ่งภารกิจนี้จะประกอบด้วยยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานลงจอด ยานสำรวจขนาดเล็ก และรถยนต์สำรวจ
วันอังคารที่ผ่านมา ทำเนียบขาวได้มีคำสั่งให้นาซาสร้างไทม์โซนหรือมาตรฐานเวลาสำหรับดวงจันทร์ ภายในปี 2026 เพื่อใช้เทียบเวลาในการทำภารกิจสำหรับยานอวกาศและดาวเทียมบนดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งวิธีการปรับใช้จะต้องทำข้อตกลงระหว่างประเทศผ่านองค์กรกำหนดมาตรฐานที่มีอยู่ และพันธมิตร 36 ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาอาร์เทมิส ซึ่งไม่มีรัสเซีย จีนและไทยร่วมด้วย