สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) เผยข้อมูลว่าจะเกิดพายุสุริยะที่มีความรุนแรงมากถึงระดับ G5 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลก ตั้งแต่วันศุกร์และอาจนานไปถึงสุดสัปดาห์ จนอาจมีผลขัดขวางต่อการทำงานของเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น ระบบการสื่อสารและ GPS หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประสบปัญหาจากพายุแม่เหล็กโลกที่มีความรุนแรงครั้งแรกเมื่อ 29 – 31 ตุลาคม 2003 หรือมีชื่อเรียกว่า พายุสุริยะฮาโลวีน (Halloween solar storms) ที่เกิดจากเปลวสุริยะและการปลดปล่อยมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ ทั้งนี้จะเกิดกับโลกของเราอีกครั้งในรอบ 20 ปี
รังสีของพายุสุริยะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของดาวเทียม และการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ที่ช่วยปกป้องโลกจากรังสีของดวงอาทิตย์ จนอาจส่งผลกระทบต่อการวางแนวและการทำงานของดาวเทียม รวมทั้งลดคุณภาพของการสื่อสารโดยคลื่นวิทยุ ทั้งนี้อิออนที่แตกตัวอยู่ในไอโอโนสเฟียร์จะช่วยสะท้อนคลื่นวิทยุ จึงมีความสำคัญต่อบริการ GPS และการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ได้แก่ ภาคการบิน การเดินเรือ และการดูแลเหตุฉุกเฉิน
NOAA แจ้งว่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่จะมีความเสี่ยงต่อโครงข่ายไฟฟ้าในวงกว้าง เช่น ปัญหาแรงดันไฟฟ้า และการขัดข้องของระบบป้องกันโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งเคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาแล้วเมื่อในอดีต เช่น เกิดไฟดับ 9 ชั่วโมงในควิเบกเมื่อปี 1989 รวมทั้งเกิดไฟฟ้าดับในสวีเดน และหม้อแปลงไฟฟ้าเสียหายในแอฟริกาใต้เมื่อปี 2003 ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุไฟฟ้าดับในหลายแห่งจากพายุสุริยะ
NOAA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แนะนำมาตรการรับมือเมื่อเกิดไฟฟ้าดับเวลานาน เช่น การบำรุงรักษาระบบพลังงานสำรอง และปิดอุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อนจากปัญหาไฟกระชาก
อีลอน มัสก์ ซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เจ้าของเครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้โพสต์กราฟแสดงระดับความรุนแรงและช่วงเวลาของพายุสุริยะ และเผยว่าพายุสุริยะที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ใหญ่ที่สุดในเวลาที่ผ่านมานานแล้ว ซึ่งดาวเทียมสตาร์ลิงก์ก็อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างมากเช่นกัน แต่ก็จะยังคงอยู่ต่อไปได้