วันอังคารที่ 4 มิถุนายน ยานฉางเอ๋อ 6 (Chang’e 6) ของจีนที่บรรทุกตัวอย่างหินและดินในฟากด้านไกลของดวงจันทร์ ได้ยกตัวบินขึ้นออกจากดวงจันทร์ไปสู่อวกาศ เมื่อเวลา 07.38 น. ตามเวลาท้องถิ่น และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เพื่อเริ่มเดินทางกลับสู่โลก ซึ่งเมื่อยานฉางเอ๋อ 6 กลับถึงโลกก็จะทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถส่งตัวอย่างหินและดินจากฟากไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จ และแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายในการส่งนักบินอวกาศของจีนไปเหยียบดวงจันทร์ภายในปี 2030 อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
3 พฤษภาคม จีนได้ปล่อยยานฉางเอ๋อ 6 เดินทางมุ่งหน้าไปยังด้านไกลหรืออีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ที่ยังไม่มีใครสำรวจ เพื่อเก็บตัวอย่างดินและหินกลับมายังโลก เมื่อไปถึงวงโคจรของดวงจันทร์ ยานลงจอด (Lander) ได้แยกตัวออกจากยานในวงโคจร (Orbiter) ลงจอดในแอ่งขั้วใต้-เอตเคนได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงจอดบนฟากด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จโดยการประสานงานกับโลกด้วยดาวเทียมสื่อสาร Queqiao-2 ที่ถูกปล่อยขึ้นไปเมื่อเดือนมีนาคม
ยานสำรวจได้ติดตั้งสว่านและแขนหุ่นยนต์ในการขุดดิน แล้วเก็บตัวอย่างดินและหินตามแผนที่วางไว้ หลังจากเก็บตัวอย่างเสร็จยานได้คลี่ธงชาติจีนออกที่ด้านไกลของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก จากนั้นก็ได้เก็บตัวอย่างไว้ในภาชนะในตัวยาน Ascender ซึ่งมีเชื้อเพลิงขับดันให้ยานบินขึ้นมาเทียบจอดเข้ากับ Orbiter จากนั้นก็ถ่ายโอนตัวอย่างเข้ามาเก็บในแคปซูลของ Orbiter และสุดท้ายยาน Orbiter ก็ได้ออกจากวงโคจรของดวงจันทร์มุ่งหน้ากลับสู่โลก ซึ่งจะลงจอดในทะเลทรายตรงพื้นที่มองโกเลียในของจีนช่วงวันที่ 25 มิถุนายน
ภารกิจฉางเอ๋อ 6 ก็คือภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีน ครั้งที่ 6 และเป็นภารกิจเก็บตัวอย่างดินและหินบนดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ถัดจากภารกิจฉางเอ๋อ 5 เมื่อปี 2020 และก่อนหน้านั้นยานฉางเอ๋อ 4 ของจีนได้สามารถลงจอดบนฟากด้านไกลของดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรกเมื่อปี 2019
จีนสามารถทำโครงการสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จมาแล้วหลายภารกิจ ซึ่งตามหลังรุ่นพี่อย่างสหรัฐฯ และรัสเซียอยู่ไม่ไกล ในขณะที่มีคู่แข่งคือ อินเดียและญี่ปุ่น ที่สามารถนำยานลงจอดอย่างนิ่มนวลบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ นอกจากนี้จีนยังมีสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) เป็นของตัวเอง และมีแผนจะส่งนักบินอวกาศไปเหยียบบนดวงจันทร์ภายในปี 2030 ส่วนสหรัฐฯ จะส่งนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2026