กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ เผยว่า วันพุธที่ 26 มิถุนายน เวลา 16.00 GMT (เวลา 23:00 น. ในประเทศไทย) เกิดเหตุดาวเทียมสำรวจโลก RESURS-P1 ของรัสเซียที่เลิกใช้งานไปเมื่อปี 2022 ได้ระเบิดหรือพังแหลกกระจายเป็นเศษซากมากกว่า 100 ชิ้นอยู่ในวงโคจรที่ใกล้กับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)
ต่อมาเวลา 9 p.m. ET (08.00 น. วันพฤหัสบดีในประเทศไทย) ศูนย์ควบคุมภารกิจของนาซาในเมืองฮูสตันได้แจ้งเตือนให้ 6 นักบินอวกาศของสหรัฐฯ ที่อยู่บน ISS เข้าไปหลบภัยอยู่ในยานที่ตัวเองเดินทางมาจากโลก และถ้าจำเป็นก็ให้ขับยานเดินทางออกมาได้ หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง นักบินอวกาศก็ได้ออกจากยานอวกาศ และกลับเข้าไปทำงานบน ISS ตามปกติ
บ่ายของวันพฤหัสบดี เรดาร์ติดตามอวกาศจากบริษัทลีโอแล็บส์ของสหรัฐ ได้ตรวจพบชิ้นส่วนจากการพังแตกกระจายของดาวเทียม RESURS-P1 มีอย่างน้อย 180 ชิ้น ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 355 กิโลเมตร ในวงโคจรระดับต่ำของโลก และอยู่ในพื้นที่เดียวกับดาวเทียมทั้งเล็กและใหญ่ที่กำลังทำงานอยู่หลายพันดวง เช่น เครือข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสเปซเอ็กซ์ และสถานีอวกาศของจีนที่มีนักบินอวกาศอาศัยอยู่ 3 คน ทั้งนี้คาดว่าต้องรอหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจึงจะหมดอันตราย
ในอวกาศมีเศษซากขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรจำนวนประมาณ 25,000 ชิ้น ที่เกิดจากการระเบิดหรือการชนกันของดาวเทียม อาจมีโอกาสทำให้เกิดปรากฏการณ์เคสเลอร์ ที่จะส่งผลให้ดาวเทียมชนกับเศษซากจนเกิดอันตรายมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการชนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปี 2021 รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมที่เลิกใช้งานในวงโคจร จนทำให้เกิดเศษซากในวงโคจรหลายพันชิ้น และถูกวิจารณ์จากสหรัฐฯ อย่างรุนแรง นอกจากนี้ ช่วงเวลา 88 นาทีก่อนที่ดาวเทียม RESURS-P1 ระเบิด พบว่าได้มีการโคจรผ่านสถานีปล่อยจรวดเพลเซตสค์ของรัสเซีย จึงอาจมีคนสงสัยว่าโดนรัสเซียยิงขีปนาวุธขึ้นไปสอยหรือเปล่า? แต่ทั้งนี้ไม่ข้อมูลการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการยิงขีปนาวุธของรัสเซียแต่อย่างใด นอกจากนี้มีความสงสัยว่าเชื้อเพลิงที่หลงเหลืออยู่อาจทำให้เกิดการระเบิดของดาวเทียมได้เช่นกัน
ดาวเทียมที่ปลดประจำการแล้วจะยังคงอยู่ในวงโคจรไปเรื่อย ๆ จนหลายปีผ่านไปก็จะตกลงมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกแล้วถูกเผาไหม้ทำลายไป หรือไม่ก็จะถูกส่งไปยังวงโคจรสุสานที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้ทิ้งเกะกะจนไปชนกับดาวเทียมที่กำลังใช้งาน