ยานอวกาศ Starliner ของ Boeing ได้เดินทางเข้าจอดเทียบท่าส่งนักบินอวกาศของนาซา และเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมยานอวกาศพา 2 นักบินอวกาศกลับสู่โลก เนื่องจากระบบขับดันทำงานผิดปกติ ล่าสุดตามเอกสารที่บริษัทยื่นผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ต่อ กลต.สหรัฐฯ เผยว่าโครงการ Starliner ได้ขาดทุนเพิ่มเติมอีก 125 ล้านเหรียญ (4,414 ล้านบาท) เนื่องจากเที่ยวบินทดสอบพร้อมนักบินอวกาศครั้งแรก (CFT) มีความล่าช้า ซึ่งตามแผนจะใช้เวลา 8 วัน แต่ตอนนี้นักบินอวกาศค้างอยู่บน ISS มานานเกือบ 2 เดือน และรวมบริษัทขาดทุนไปแล้วทั้งหมด 1,600 ล้านเหรียญ (56,500 ล้านบาท)
ปี 2014 โครงการให้บริการโดยสารนักบินอวกาศไปกลับระหว่างโลกกับ ISS เชิงพาณิชย์ (CCP) ได้มอบสัญญาให้แก่ 2 บริษัทคือ Boeing และ SpaceX ในการพัฒนายานอวกาศ และต้องครอบคลุมการทดสอบเที่ยวบินที่มีนักบินอวกาศอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยมีโครงสร้างการจ่ายเงินเป็นแบบคงที่ คือ หากบริษัททำงานเกินงบที่มอบให้ก็จะต้องจ่ายเงินในส่วนเกินเองทั้งหมด ซึ่ง Boeing ได้รับสัญญามูลค่า 4,200 ล้านเหรียญ (148,314 ล้านบาท) ในการพัฒนายาน Starliner แม้ว่ายอดเงินจะดูมากมายมหาศาล แต่การล่าช้าของภารกิจหลาย ๆ ครั้งก็ได้ทำให้เกิดการขาดทุนอย่างที่เห็น
ส่วน SpaceX ได้รับสัญญามูลค่า 2,600 ล้านเหรียญ (91,813 ล้านบาท) และได้ปฏิบัติตามสัญญาจนสามารถใช้แคปซูลอวกาศ Crew Dragon ทดสอบให้บริการโดยสารนักบินอวกาศไปกลับระหว่างโลกและ ISS ได้สำเร็จในภารกิจ Demo-2 เมื่อปี 2020 และ SpaceX ก็ได้เหมาตั๋วโดยสารอวกาศให้กับนาซาและลูกค้าแบบส่วนตัวอยู่รายเดียว ในขณะที่ Boeing ก็ได้แค่สาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่
ความสำเร็จของภารกิจ Demo-2 ของ SpaceX ตามสัญญามีผลให้บริษัทได้รับการจ้างให้บริการรับส่งนักบินอวกาศไปกลับ ISS รวม 6 เที่ยวบิน คือ ภารกิจ Crew-1 ไปจนถึง Crew-6 แต่ความล่าช้าของ Starliner ทำให้เดือนมีนาคม 2022 นาซาได้ตีตั๋วแคปซูล Crew Dragon ของ SpaceX เพิ่มอีก 3 เที่ยวบิน และเดือนกันยายน 2022 นาซาก็ได้ตีตั๋วเพิ่มอีก 5 เที่ยวบิน ซึ่ง SpaceX ได้เหมาเพียงรายเดียวรวมทั้งหมด 14 เที่ยวบิน
20 ธันวาคม 2019 โบอิ้งได้ปล่อยยาน Starliner ที่ไม่มีนักบินอวกาศโดยสาร (Orbital Flight Test : OFT) ไปยัง ISS เป็นครั้งแรก แต่กลับพลาดใช้เชื้อเพลิงมากเกินไปจนต้องเดินทางกลับสู่โลกก่อนที่จะไปถึง จากนั้นได้พยายามแก้มือทดสอบบินครั้งที่ 2 (OFT-2) แต่ก็มีปัญหาและเลื่อนภารกิจไปหลายครั้ง จนในที่สุดสามารถทำภารกิจ OFT-2 ได้สำเร็จเมื่อพฤษภาคม 2022 แต่ก็พบปัญหาว่าก่อนที่เข้าสู่วงโคจรตัวขับดัน 2 ตัวไม่สามารถจุดระเบิดได้ และมีผลทำให้ภารกิจบินทดสอบพร้อมนักบินอวกาศครั้งแรก (CFT) ต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง จน 5 มิถุนายนก็สามารถปล่อยยานอวกาศ Starliner พร้อมนักบินอวกาศไปสู่อวกาศและจอดเทียบท่า ISS ได้สำเร็จ
ในการประชุมรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เดฟ คาลฮูน (Dave Calhoun) ซีอีโอของ Boeing คาดว่าโครงการพัฒนาแบบราคาคงที่จะยังคงมีปัญหาจนกว่าบริษัทจะพัฒนาเสร็จ และกล่าวอีกว่าจากบทเรียนที่บริษัทได้เรียนรู้ในการทำโครงการพัฒนาแบบราคาคงที่เหล่านี้ บริษัทควรระมัดระวังในการทำสัญญากับทุกโอกาสในอนาคต
นอกจากนี้ นาซาประกาศว่าจะเลื่อนภารกิจแรกในการให้บริการโดยสารนักบินอวกาศไปกลับ ISS ของยาน Starliner ออกไปก่อน ซึ่งจะไม่เร็วกว่าเดือนสิงหาคม 2025 คืออีกประมาณ 1 ปี ซึ่งระหว่างนี้ Boeing จะต้องแก้ไขปัญหาระบบขับดันให้สำเร็จ และก็มีค่าใช้จ่ายรออยู่มิใช่น้อย
30 กรกฎาคม นาซาเผยว่าการทดสอบเครื่องขับดันทั้งหมดของยาน Starliner กลับมาอยู่ในระดับก่อนบิน และ 31 กรกฎาคม Boeing เผยว่าขณะนี้กำลังเตรียมการเดินทางกลับมาของยาน Starliner คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม