วันพุธที่ 18 กันยายน คณะรัฐมนตรีของอินเดียได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้กับองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) สำหรับการทำภารกิจอวกาศทั้งหมด 4 ภารกิจ ด้วยมูลค่าทั้งหมดมากกว่า 227,500 ล้านรูปี (90,000 ล้านบาท) โดยมีภารกิจแรกคือ Chandrayaan-4 ส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งที่ 4, ภารกิจที่ 2 พัฒนายานโคจรรอบดาวศุกร์, ภารกิจที่ 3 สร้างโมดูลแรกของสถานีอวกาศของอินเดีย และภารกิจที่ 4 คือการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่
ภารกิจ Chandrayaan-4 เป็นการส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างดินและหินจากพื้นผิวของดวงจันทร์นำกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย ซึ่งได้รับงบประมาณ 21,040.6 ล้านรูปี (8,350 ล้านบาท) เป็นค่าสร้างยานและการปล่อยจรวด LVM-3 (2 ครั้ง) และจะปล่อยภารกิจในปี 2027 หลังจากที่อินเดียสามารถส่งยาน Chandrayaan-3 ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก และเป็นประเทศแรกที่สามารถนำยานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ ทั้งนี้จะพัฒนา Chandrayaan-4 ต่อยอดจาก Chandrayaan-3 โดยการเพิ่มส่วนประกอบ เช่น การเชื่อมต่อบนดวงจันทร์ การลงจอดที่แม่นยำ การเก็บตัวอย่าง และการเดินทางกลับมายังโลก
ภารกิจที่ 2 การส่งยานไปโคจรรอบดาวศุกร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ด้วยงบประมาณ 12,360 ล้านรูปี (4,900 ล้านบาท) เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาบรรยากาศของดาวศุกร์และธรณีวิทยา ซึ่งจะปล่อยภารกิจในปี 2028
ภารกิจที่ 3 เป็นการสร้างโมดูลแรก (BAS-1) ของสถานีอวกาศที่มีชื่อว่า Bharatiya Antariksh (BAS) โดยได้รับงบประมาณ 111,700 ล้านรูปี (44,320 ล้านบาท) นำไปพัฒนาต่อยอดจาก Gaganyaan ซึ่งจะเริ่มพัฒนาในปีหน้าและมีเป้าหมายปล่อยไปสู่วงโคจรในปี 2028 ส่วนสถานีอวกาศ BAS จะประกอบเสร็จสมบูรณ์ในปี 2035 โดยมีน้ำหนักทั้งหมด 52 ตัน โคจรเหนือพื้นผิวโลกที่ระดับ 400 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เป็นห้องวิจัยสำหรับนักบินอวกาศและนักวิทยาศาสตร์ของอินเดียที่อยู่ในวงโคจรของโลก
ภารกิจที่ 4 เป็นการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น 3 เท่า แต่มีต้นทุน 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับจรวดรุ่น LVM-3 และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยทำกำไรในการใช้รับจ้างขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ โดยได้รับงบประมาณ 82,400 ล้านรูปี (32,690 ล้านบาท) สำหรับพัฒนาจรวด 3 เที่ยวบิน รวมทั้งค่าสถานที่และค่าปล่อยจรวด